นักวิชาการชี้อัตราการสูบบุหรี่คนไทยลดลงต่ำ เฉลี่ยปีละ 0.23% น้อยกว่าเป้าหมาย UN กำหนด พยากรณ์อีก 11 ปี คนไทยสูบบุหรี่ 10.5 ล้านคน ระบุต้องพัฒนาระบบบริการเลิกบุหรี่เชิงรุก บรรจุรักษาเลิกบุหรี่ในชุดสิทธิประโยชน์ ตั้งเป้าลดสูบบุหรี่เฉลี่ย 0.44% ต่อปี จึงลดคนสูบได้ตามเป้า
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการแถลงข่าว “ผลการวิจัย คาดการณ์แนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทย จนถึง พ.ศ. 2568” ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจาก 32% เมื่อปี 2534 เหลือ 19.94% ในปี 2556 แต่ในช่วง 4 - 5 ปีมานี้ อัตราการสูบบุหรี่ลดลงกลับน้อยลงมาก เนื่องจากมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มในกลุ่มที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ ผู้หญิง เด็ก และเยาวชน ที่สำคัญ มีการกระจายทั่วทุกภูมิภาคและสังคมยังไม่ตระหนักเรื่องควันบุหรี่มือสอง ยังมีการสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้าม ทั้งนี้ เตรียมศึกษาต้นแบบการดำเนินการเรื่องถนนปลอดบุหรี่ของ จ.กระบี่ นำมาปรับใช้ถนนในกรุงเทพฯด้วย
ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการพยากรณ์อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยระหว่างปี 2554 - 2568 พบว่า แนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ลดลงจาก 20.3% เป็น 17.5% ลดลงเฉลี่ยปีละ 0.23% โดยในปี 2568 จะมีผู้สูบบุหรี่เท่ากับ 10.5 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายของมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ที่ตั้งเป้าระดับโลกไว้ว่าแต่ละประเทศควรลดการสูบบหรี่ลงให้ได้ 30% ภายในปี 2568 เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เท่ากับว่าในปี 2568 ประเทศไทยควรมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลง 15% แทนที่จะเป็น 17.5% ทั้งนี้ หากจะลดอัตราการสูบบุหรี่ให้เหลือ 15% จะต้องทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง 0.44% ต่อปี แทนที่จะเป็น 0.23% จะทำให้จำนวนผู้สูบุหรี่ลดเหลือ 9 ล้านคน
“การจะทำให้การควบคุมยาสูบบรรลุเป้าหมายระดับโลก นอกจากดำเนินการมาตรการทางภาษีและกฎหมายเพื่อควบคุมการตลาดของบุหรี่แล้ว ควรมุ่งสกัดการเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ของเด็กและเยาวชน รวมถึงเร่งรัดให้ผู้ติดบุหรี่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ด้วยการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบบริการเลิกบุหรี่เชิงรุก และเพิ่มการรักษาการเลิกบุหรี่ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของการรักษาพยาบาล” ดร.ศรัณญา กล่าว
ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการวิจัยแนวโน้มดังกล่าวที่อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงน้อยมาก บ่งบอกว่า ปริมาณบุหรี่ที่สูบและความต้องการใบยาสูบเพื่อการบริโภคภายในประเทศจะลดลงน้อยมากเช่นกัน ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบไทยอยู่ที่ส่วนแบ่งตลาดบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้ใช้ใบยาสูบไทย หากการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศยังเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ
น.ส.บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่สังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ประชากรในอาเซียนมีประมาณ 625 ล้านคน ในจำนวนนี้สูบบุหรี่ถึง 125 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย แนวทางในการลดความสูญเสียจากการขยาดตลาดบุหรี่ในภูมิภาคนี้ คือ การขึ้นภาษีและขึ้นราคาบุหรี่ให้สูงขึ้น
- 81 views