ภาคประชาชนแถลงย้ำ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นรัฐสวัสดิการ ประชาชนเป็นเจ้าของ วอน คสช.อย่าสร้างความทุกข์ให้ประชาชน แช่แข็งงบรายหัว ไม่เห็นด้วยข้อเสนอสธ.ให้ร่วมจ่าย ย้ำประชาชนจ่ายผ่านภาษีแล้ว อย่าปั้นข้อมูลเท็จว่าระบบจะล้มจนผลักภาระมาให้ประชาชน ถามประธานบอร์ดสปสช.เมื่อไหร่จะเรียกประชุมบอร์ด ตอนนี้วาระอนุมัติยาไวรัสตับอักเสบซีค้างกว่า 2 เดือน กระทบผู้ป่วยไม่ได้ยา เตือนสธ.อย่าปฏิรูปโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ควรจับประชาชนเป็นตัวประกันแล้วจะดึงอำนาจจัดสรรงบคืน ข้องใจทำไมสธ.อ้างช่วงปฏิรูป เลยต้องงดร่วมมือกับสปสช.
วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แถลงจุดยืนประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ย้ำประชาชนต้องมีหลักประกันด้านสุขภาพที่เป็นธรรม มีคุณภาพ โดยไม่ต้องร่วมจ่าย
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจกันว่า 30 บาทหรือบัตรทอง เป็นนโยบายประชานิยม ซึ่งนี่ถือเป็นการเข้าใจสิ่งเหล่านี้คือหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ของนักการเมือง แต่เป็นของประชาชนทุกคน เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนร่วมร่างและเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นักการเมืองแค่ผ่านกฎหมายเท่านั้น ตอนนี้กระแสการปฏิรูปมาแรง แต่การปฏิรูประบบสุขภาพไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ มันเกิดมาแล้วตั้งแต่ปี 2545 เดิมมีแค่ สธ. ตอนนี้ก็มีสปสช.ขึ้นมาเป็นตัวแทนของประชาชน การพัฒนาควรจะดีขึ้น ไม่ใช่การเดินถอยหลัง การปฏิรูปต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ใช่ใครมีอำนาจ มาเป็นพระเอก การปฏิรูป ไม่ควรใช้ความรู้สึกของตัวเอง วันนี้ขอส่งเสียงไปถึงคสช. ว่าหลักประกันสุขภาพเป็นของประชาชน ไม่ใช่ประชานิยม
“สถานการณ์ระบบสาธารณสุขตอนนี้ ถือว่ามีความเปราะบางมาก ล่าสุด วันที่ 4 ก.ค. ก็มีหนังสือจากกระทรวงสธ. ลงนามโดยนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิรูป จึงขอไม่ให้ความร่วมมือกับสปสช. ถามว่า นี่เป็นนโยบายของคสช.หรือไม่ว่าการปฏิรูปต้องหยุดความร่วมมือ เท่ากับตอนนี้สธ.กำลังแช่แข็งระบบสาธารณสุขของประเทศนี้ การปฏิรูปต้องคำนึงถึงการตรวจสอบถ่วงดุลกัน ไม่ใช่ใครมีอำนาจแล้วจะมายึดอำนาจคืนไปที่สธ. ถือเป็นแนวคิดล้าหลัง การรัฐประหารครั้งนี้ อย่าให้เป็นหนีเสือปะจรเข้ ทำให้ประชาชนยากลำบาก 30 บาทหรือบัตรทอง ทำให้ประชาชนมีความั่นคง ดังนั้นก็อย่าทำให้ชีวิตพลเมืองต้องไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้” นางสาวบุญยืน กล่าว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2557 มีงบเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,895 บาท และในปี 2558 นั้น บอร์ดสปสช.เสนอของบรายหัวเพิ่มไปที่ 3,361 บาท ซึ่งได้มีการนำเสนอให้คสช.พิจารณาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และมีแนวโน้มว่าจะแช่แข็งงบเหมาจ่ายรายหัวให้ได้รับเท่าเดิมในปี 2557 ถ้าเป็นแบบนี้จริง เท่ากับว่า คสช.กำลังเพิ่มทุกข์ให้ประชาชน เพราะการเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะในภาวะที่มีโรคเพิ่มขึ้น มีการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น สปสช.มีการคำนวณว่า ถ้าได้รับงบเท่าเดิม จะทำให้ผู้ป่วยนอกไม่ได้รับบริการ 20 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในก็จะหายไป 5 ล้านครั้ง ซึ่งนั่นเป็นประเด็นที่ว่าประชาชนจะเข้าไม่ถึงบริการ เพราะงบไม่พอ
“ขณะเดียวกัน สภาวะตอนนี้ ไม่มีการประชุมบอร์ด จึงไม่สามารถอนุมัติสิทธิประโยชน์ใหม่ๆได้ ตอนนี้ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ก็ยังไม่ได้อนุมัติ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ถ้าไม่ได้ยาก็พัฒนากลายไปเป็นมะเร็งตับ ค่ารักษาก็แพงอีก นี่เป็นความทุกข์ แต่ยังไม่ประชุมบอร์ดกว่า 2 เดือนแล้ว บอร์ดจะประชุมได้ ประธานต้องเรียก ก็ไปดูแล้วกันว่าใครเป็นประธาน แล้วทำไมถึงไม่เรียกประชุมบอร์ดเสียที ตรงนี้อยากฝากไปถึงคสช.ที่พูดตลอดเวลาว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะ และวางรากฐาน แต่ตอนนี้เรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน และไม่เคยมีข้อเสนอที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายนิมิตร์กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นข้อเสนอร่วมจ่ายนั้น ทราบว่าสธ.ได้นำเสนอคสช.ให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายในอัตรา 30-50% โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะทำให้ระบบล้มละลาย ซึ่งนี่เป็นการให้ข้อมูลที่ผิดมาก การที่สธ.บอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะอยู่ไม่ได้ เพราะใช้เงินเยอะ ไม่จริง เพราะรัฐจ่ายเพื่อสุขภาพเพียง 7% เท่านั้น ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มมาก ทั้งช่วยลดความยากจนในครัวเรือนได้ ถ้ารัฐจะผลักภาระตรงนี้ ทหารเกณฑ์ที่ใช้บัตรทองก็ต้องมาแบกรับด้วย
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ถ้ามีการร่วมจ่ายจริง คนที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คือผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาว่า ประชาชนไปใช้บริการเกินความจำเป็นนั้น เป็นการดูถูกประชาชนมากเกินไป เพราะไม่มีใครอยากเจ็บป่วย และเมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษา หากต้องร่วมจ่ายก็จะทำให้บางคนไม่มีและไม่ได้รับการรักษา ส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนจน ผู้สูงอายุ คนรับจ้างทั่วไป พวกเราเสียภาษีกันทุกคน ต้องทำให้ได้รับบริการเท่าเทียมเสมอหน้า ถ้าให้ผู้รับบริการต้องร่วมจ่าย ก็ต้องมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการ และทำให้กลุ่มคนเจ็บป่วย กลายมาเป็นภาระของประเทศอีก หลักการระบบหลักประกันสุขภาพคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข พวกเราที่เป็นเครือข่ายเอชไอวี เราเป็นพลเมือง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เค้าควรได้บริการที่ดี นี่เป็นหลักการตามหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ดังนั้น คสช.ต้องคิดเรื่องนี้อย่างละเอียด
- 35 views