กรมสุขภาพจิต จับมือ เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ 187 แห่งทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพทุกกลุ่มวัย ทั้งกายและจิต พบ เบาหวานและความดัน ปัญหาสุขภาพยอดฮิตหลายพื้นที่
วันนี้ (7 ก.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กทม. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในระบบสุขภาพอำเภอ ภายใต้โครงการการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพจิตชุมชนที่ยั่งยืน ว่า ระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System: DHS) เป็นการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนภายในอำเภอ ตั้งแต่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล ไปจนถึงประชาชนในชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาและแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ด้วยตัวเอง ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการดำเนินงานจากส่วนกลาง ทั้งนี้ ในปี 2557 มีอำเภอเข้าร่วมแล้ว 187 แห่ง แบ่งเป็น 176 อำเภอจากทั่วประเทศ และ 11 ชุมชนใน กทม. โดยปัญหาด้านจิตเวชและยาเสพติด เป็นประเด็นปัญหาสุขภาพด้านหนึ่งที่แต่ละชุมชนเลือกมาดำเนินการแก้ปัญหามากถึงร้อยละ 21.92 รองจากปัญหาเรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่พบร้อยละ 29.41
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ประเด็นสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพเกือบทั้งหมด ยกตัวอย่าง การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็มีผลต่ออาการซึมเศร้าในผู้ป่วย ปัญหาการใช้ยาเสพติดก็ส่งผลให้อาการทางสุขภาพจิตรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อแบ่งปัญหาสุขภาพออกเป็นตามกลุ่มวัยยังพบปัญหาที่การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตเข้าไปเกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เช่น ปัญหาพัฒนาการของเด็กผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานระบบสุขภาพระดับอำเภอจะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ของชุมชนเข้าถึงบริการมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยอาศัยกลไกในการให้ประชาชนช่วยค้นหาผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต เมื่อพบเร็วก็จะมีผู้ดูแลเบื้องต้นในพื้นที่เข้ามารับช่วงต่อ แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเกินความสามารถในการดูแล ก็จะส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ ทั้งนี้ จากการดำเนินงานมา 1 ปี พบว่าได้ผลดี ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาด้านจิตเวชได้เข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะเร่งขยายการดำเนินงานสุขภาพจิตระดับอำเภอให้ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตแบ่งได้ 2 ส่วน คือ 1.ปัญหาจากความตึงเครียดและกดดันจากการใช้ชีวิต ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยปัญหานี้ต้องทำงานในเชิงป้องกันเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เริ่มจากปัญหาความกดดันจากการใช้ชีวิต การงาน ครอบครัวและเศรษฐกิจ และจากการที่กรมสุขภาพจิตสำรวจภาวะสุขภาพจิตพบว่าตัวกดดันอันดับ 1 มาจากเรื่องเศรษฐกิจ รองลงมาเป็นครอบครัว และปัญหาการทำงาน การใช้ชีวิตทั่วไป ตามลำดับ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทำให้คนที่มีความตึงเครียดรู้ว่าเวลาเกิดภาวะทางด้านอารมณ์ที่ตึงเครียดจะเฝ้าระวังอารมณ์ตัวเองอย่างไร และเมื่อมีความเครียดแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องหาคนช่วยเหลือ มิฉะนั้น ก็จะนำไปสู่ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่นได้ ส่วนการดูแลผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะเน้นการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ 1.ทีมวิกฤตสุขภาพจิต ซึ่งมีผู้ทำงานถึงระดับอำเภอ ในทุกโรงพยาบาลอำเภอก็จะมีทีมวิกฤตสุขภาพจิต โดยเป็นการทำงานช่วยเหลือและเยียวยาอย่างทันทีที่เกิดภาวะวิกฤตขึ้น เพื่อไม่ให้ภาวะวิกฤตส่งผลระยะยาวต่อผู้ประสบเหตุการณ์ และ 2.การทำงานร่วมกับเครือข่ายเช่นเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้มีปัญหาเพื่อจะได้ทราบว่าภาวะสุขภาพจิตเป็นอย่างไรช่วยกันสังเกตเฝ้าระวังปัญหาในชุมชนรวมถึงให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและในขณะเดียวกันเมื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นก็ประเมินได้ว่าใครที่เกินความสามารถในการรักษาตนเอง ก็จะทำการส่งต่อเพื่อให้ผู้รับบริการได้เข้าถึงบริการมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเข้าไปดูแลรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
- 33 views