อย. เผยยังไม่ได้รับของกลาง “ยาบ้าฟรุ้งฟริ้ง” หลังตรวจจับแล้วหลายพื้นที่ พบมีสีสวยสดใส เรืองแสงในที่มืด ออกฤทธิ์แรงกว่าเดิม ระบุยังคงอยู่กระบวนการตรวจพิสูจน์ส่วนผสมที่ทำให้เรืองแสง และสัดส่วนของเมทแอมเฟตามีน คาดอาจเป็นรุ่นผสมเมทแอมเฟตามีนมากกว่าเดิม ทำให้ออกฤทธิ์รุนแรงกว่า 

วันนี้ (6 ก.ค.) ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวการจับกุมยาบ้าฟรุ้งฟริ้งได้แล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นยาบ้าชนิดใหม่ มีสีสวยสดใส โดยตัวยาจะเรืองแสง ระยิบระยับเป็นประกายเมื่ออยู่ในความมืด โดยกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ค้าและผู้เสพ เนื่องจากออกฤทธิ์รุนแรงกว่าปกติ ว่า อย. ยังไม่ได้รับตัวยาบ้าของกลางดังกล่าว จึงไม่ทราบว่าส่วนผสมในยาบ้าฟรุ้งฟริ้งที่ทำให้ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าเดิม และมีการเรืองแสงในที่มืดได้นั้น ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพราะโดยปกติแล้วเมื่อตรวจจับได้มักจะส่งตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถานตรวจพิสูจน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสถานตรวจพิสูจน์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งหลังจากตรวจพิสูจน์แล้วหากเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 หรือ 2 จึงจะส่งไปเก็บในคลังยาเสพติดของ อย. ซึ่งกระบวนการตรวจพิสูจน์นั้นใช้เวลาเป็นสัปดาห์จึงรู้ผล คงต้องรอดูว่ายาบ้าฟรุ้งฟริ้งที่ส่งตรวจพิสูจน์อยู่ขณะนี้มีส่วนผสมของอะไร และสัดส่วนเป็นอย่างไร
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า แต่จากการตรวจรับยาเสพติดให้โทษของกลางที่ผ่านมา พบว่าโดยปกติลักษณะของยาบ้าจะเป็นเม็ดสีส้ม หรือสีส้มออกน้ำตาล มีน้อยมากที่จะเป็นสีเขียว สีแดง หรือสีขาว และตกแต่งกลิ่นให้ชวนกิน อย่างที่เคยมีข่าวมาก่อนว่า พบการผสมกลิ่นวานิลลา กล้วยหอม และสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น โดยเม็ดหนึ่งมักพบว่ามีขนาดประมาณ 90 - 100 มิลลิกรัม มีสารออกฤทธิ์เรียกว่า เมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นสารส่วนผสมหลักอยู่ประมาณ 10 - 20 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับสูตรของผู้ผลิตยาบ้าแต่ละราย โดยมักจะผสมร่วมกับกาเฟอีน อีเฟรดีน และไดเมทิลแอมเฟตามีน ซึ่งสารพวกนี้จะออกฤทธิ์คล้ายตัวเมทแอมเฟตามีนอยู่แล้ว คือ กระตุ้นประสาท สำหรับยาบ้าฟรุ้งฟริ้งเป็นไปได้ว่า อาจเป็นรุ่นของยาบ้าที่มีการผสมเมทแอมเฟตามีนในสัดส่วนที่มากกว่าเดิม สำหรับการใส่สีเรืองแสงลงไปอาจมีอันตรายมากขึ้น แต่คงไม่อันตรายไปกว่าการเสพยาบ้าอยู่แล้ว