สวปก.เดินหน้าวิจัยนโยบายเขตสุขภาพสธ. เผยสิ่งที่สธ.ดำเนินการด้านเขตสุขภาพนั้น ส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอจากสวปก. แต่ยกเว้นการมีส่วนร่วมของ อปท.และหน่วยงานนอก เหตุขอเคลียร์ภายใน สธ.ก่อน ภาพรวมเขตสุขภาพตอนนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้บริหารเป็นหลักว่ามือถึงหรือไม่ บางเขตก็ทำได้ดี บางเขตก็ไม่ ชมสธ.ขยับทำเขตสุขภาพและเดินหน้ามาถึงขั้นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ยากมากแล้ว และก้าวหน้าในระดับหนึ่ง เทียบญี่ปุ่นกว่าจะเปลี่ยนรพ.จากสังกัดส่วนกลางมาเป็นหน่วยงานอิสระก็ต้องใช้เวลา แต่ระวังจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ชี้ตอนนี้ยังไม่ถึงกระจายอำนาจ แต่ “มอบอำนาจ” มากกว่า เหตุอำนาจยังอยู่ที่ปลัด สธ.
นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง สวปก. ได้มีการทำวิจัยนโยบายเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่อยู่ระหว่างการเดินหน้าในขณะนี้ โดยเป็นการวิจัยแบบประมวลผล ติดตามกระบวนการดำเนินการของ สธ.อย่างใกล้ชิด ไม่ต้องรอให้การจัดทำนโยบายเป็นที่เรียบร้อยก่อน สาเหตุที่ทาง สวปก.ทำการวิจัยเรื่องนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทาง สวปก.ได้ทำเรื่องภาพรวมการปฏิรูป โดยเรื่องเขตสุขภาพเป็นหนึ่งในข้อเสนอของ สวปก. ซึ่งเป็นหน่ยวงานภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ต้องการให้มีการปรับโครงสร้างของ สธ.เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมมากขึ้น อีกทั้งในการออกแบบเขตบริการสุขภาพ ทางเราได้มีส่วนร่วมอยู่ด้วย เพราะมีการนำข้อเสนอของทาง สวปก.ไปดำเนินการ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนบางส่วน
“การวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบการประมวลการดำเนินนโยบาย เพื่อดูว่าสามารถแปลงกระบวนการไปในทางสมควรหรือไม่ มีอุปสรรคอย่างไรบ้าง ส่วนนี้เราจึงเริ่มทำตั้งแต่ สธ.ตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งทาง สวปก.ได้ให้ รศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เป็นคนทำวิจัยนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นแนวคิด ไปจนถึงการเก็บข้อมูลหลังมีการดำเนินนโยบาย” ผู้อำนวยการ สวปก. กล่าวและว่า ก่อนที่จะทำวิจัยครั้งนี้ ทาง สวปก.ได้มีการทำวิจัยเรื่องเขตบริการสุขภาพ 2 ครั้ง โดยครั้งนี้จึงเป็นงานวิจัยต่อเนื่อง
ต่อข้อซักถามว่า ผลจากการวิจัยเขตสุขภาพที่ออกมาก่อนหน้านี้ ได้ระบุหรือไม่ว่า การดำเนินนโยบายเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขมาถูกทาง และตรงกับข้อเสนอของทาง สวปก. นพ.ถาวร กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินเขตสุขภาพของ สธ.ไม่ถึงกับเรียกว่าผิด ซึ่งเข้าใจว่าการดำเนินเขตสุขภาพจะต้องเป็นไปตามบริบทของ สธ. ด้วย เหตุนี้ทำให้ สธ.จึงไม่ได้นำข้อเสนอของ สวปก.ไปใช้ทั้งหมด โดยมีการชะลอข้อเสนอแนะบางส่วนออกไปก่อน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่รวดเร็ว อย่างเช่น ข้อเสนอการเปิดให้มีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานอื่นๆ นอก สธ. ที่ได้ชะลอไปก่อน โดยให้เหตุผลเพื่อเคลียร์ปัญหาภายใน สธ.ก่อนที่จะขยายออกไปสู่ภายนอก
ทั้งนี้สาเหตุที่ สวปก.เสนอให้มีส่วนร่วมจาก อปท.และหน่วยงานนอก สธ.นั้น ในอดีตเมื่อพูดถึงระบบสุขภาพของประเทศจะมีเพียงแต่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการดำเนินนโยบายจะใช้วิธีประมาณการณ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันภาพรวมของระบบสุขภาพของประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากได้มีสถานพยาบาลของ อปท.ภาคเอกชนในนสังกัดระบบอื่นๆ มากขึ้น ที่เข้ามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพและรักษาพยาบาลมากขึ้น ไม่ได้มีแต่ สธ.อย่างในอดีต ทั้งยังมีความเข้มแข็งของภาคประชาชน หากไม่เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วม จะส่งผลให้หลายภาคส่วนหายไปจากระบบสุขภาพ ดังนั้นจำเป็นที่ สธ.ต้องเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ในระบบสุขภาพเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ปัจจุบันยังเกิดกองทุนรักษาพยาบาลในระบบต่างๆ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ อีกทั้งยังมีกฎหมายกระจายอำนาจที่ยังต้องเดินตามอยู่ ส่งผลให้ สธ.ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ต้องเปิดกว้างมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการดำเนินนโยบายเขตสุขภาพที่ผ่านมา สธ.ระบุว่าเป็นการทำเพื่อกระจายอำนาจ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดในการรวบอำนาจ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นพ.ถาวร กล่าวว่า เป็นเรื่องของมุมมอง ขึ้นอยู่กับว่า การพูดว่ากระจายอำนาจอยู่บนแนวคิดและคำจำกัดความว่าอะไร อย่าง สธ.ระบุว่า เป็นการกระจายอำนาจ เนื่องจากทำให้เกิดการกระจายอำนาจจาก ปลัด สธ.ไปยังเขตบริการสุขภาพ ที่ทำให้อำนาจปลัดฯ ลดลง โดยเขตมีอิสระในการทำงานมากขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้ สธ.จึงมองว่าได้กระจายอำนาจไปขั้นหนึ่ง แต่หากพูดให้ถูกต้องเห็นว่าน่าจะใช้คำว่า “มอบอำนาจมากกว่ากระจายอำนาจ” เพราะอำนาจตรงนี้ยังคงเป็นของปลัด สธ.อยู่ และมอบให้เขตดำเนินการ
ส่วนที่เห็นว่าเขตบริการสุขภาพ สธ.เป็นการรวบอำนาจนั้น เนื่องจากเห็นว่า อำนาจปลัดฯ ควรกระจายมากกว่านี้ โดยบางเรื่องต้องให้ท้องถิ่นเป็นคนทำ และ สธ.ไม่ควรเข้ามาทำแล้ว แต่สภาพการณ์ขณะนี้ สธ.ยังสามารถกำกับนโยบายและตัดสินใจได้ สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจยังไม่ได้ถูกกระจายจริง อีกทั้งบางเรื่องที่เคยตัดสินใจได้ระดับจังหวัด อาจถูกดึงกลับไปตัดสินใจที่ระดับเขตแทน จากแนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการรวมศูนย์ รวมทรัพยากรไว้ที่เขต ด้วยเหตุนี้จึงถูกมองว่า เขตสุขภาพเป็นทำเพื่อรวบอำนาจ
“เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองเพราะต่างถูกทั้งคู่ ขึ้นอยู่ว่าใครจะยืนอยู่บนแนวคิดไหน แต่ทั้งนี้คงต้องดูกับที่ผลลัพธ์ว่า ท้ายสุดได้ตอบโจทย์ด้านสุขภาพหรือไม่ ชาวบ้านได้อะไร ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ รวมไปถึงการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ซึ่งตรงนี้คงต้องใช้เวลา” ผอ.สวปก. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการที่ สธ.ขยับทำเขตสุขภาพ และสามารถได้ขนาดนี้ ก็เป็นสิ่งที่ยากมากแล้ว แม้แต่ประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นกว่าที่จะเปลี่ยนระบบจากโรงพยาบาลสังกัดรัฐบาลกลางสู่สถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานอิสระก็ต้องใช้เวลา ดังนั้นการที่ สธ.ทำได้ขนาดนี้จึงถือเป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวัง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นถอยหลังเข้าคลองไป”
ส่วนการดำเนินนโยบายเขตสุขภาพทั้งในส่วนของ สธ. และ สปสช. ต่างกันอย่างไร นพ.ถาวร กล่าวว่า สปสช.มีแนวคิดที่จะทำงานร่วมกับท้องถิ่นและภาคประชาชนมากกว่า ขณะที่ สธ.ที่ผ่านมาจะคุ้นเคยกับการทำงานเฉพาะภายในหน่วยงาน สธ.ด้วยกัน ดังนั้น สธ.จึงต้องเดินหน้าเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจากการประเมิน สปสช.จะมีหลักคิดที่ดี เน้นการมีส่วนร่วม แต่ก็มีคำถามว่า ในการกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่ในทางปฏิบัติ สปสช.ได้มีการกระจายไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะภายใน สปสช.เองยังมีปัญหาการดึงอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้เวลา
นพ.ถาวร กล่าวต่อว่า ในการดำเนินเขตสุขภาพ สธ. เบื้องต้นทั้ง 12 เขต พบว่า บางเขตสามารถทำได้ดี มีการจัดการที่ดี แต่บางเขตยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารในพื้นที่ เรียกว่ามือถึงในการทำงาน ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรก่อน แต่ทั้งนี้จากการวิจัยยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเขตไหนมีปัญหาเพราะยังเร็วเกินไป อย่างไรก็ตามงานวิจัยเขตบริการสุขภาพนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายนนี้ โดยผลสรุปที่ได้จะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมีการปรับปรุงการดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป.
- 7 views