จากประสบการณ์การทำงานในวิชาชีพแพทย์มายาวนานถึง 35 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย วันนี้มุมมองของ ผอ.รพ.สตูล ที่หันมามองน้องๆแพทย์ด้วยกัน กลับมองว่า ค่านิยมในวัตถุ เงินทอง ความสบาย ทำให้แพทย์ยุคดิจิทัลเปลี่ยนไป มุ่งแสวงหาความต้องการของตนเองมากกว่าการอุทิศตนให้กับผู้ป่วย
นพ.ธีระชัย เอื้ออารยาภรณ์
นพ.ธีระชัย เอื้ออารยาภรณ์ ผอ.รพ.สตูล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 35 ปี ของการเป็นแพทย์ พบว่า แพทย์ในอดีต กับแพทย์ในปัจจุบันนี้มีความแตกต่างกันมาก อาทิ เรื่องค่าตอบแทน ความสะดวกสบาย ในอดีตแพทย์ใช้ทุนส่วนมากจะไม่คิดถึงเรื่องค่าตอบแทนสักนิด คิดอย่างเดียวว่า ในการประกอบวิชาชีพแพทย์แม้อาจจะไม่ร่ำรวยมาก แต่ก็มีฐานะทางสังคมที่ดี มีคนนับหน้าถือตา
แต่พอมาถึงแพทย์ยุคนี้ ส่วนมากจะคิดถึงเรื่องค่าตอบแทน เมื่อใช้ทุนเสร็จแล้ว มักจะขอลาไปศึกษาต่อในสาขาเฉพาะทาง และเลือกสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผิวหนัง ศัลยกรรม เด็กรุ่นใหม่บางคนถึงกับใช้ทุนเพียง 6 เดือน บวกกับการชดใช้เงินแทน จากนั้น ก็เปลี่ยนไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนทันที ด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เงินเดือน แพทย์จบใหม่ทำงานภาครัฐได้หลักหมื่น แต่ภาคเอกชนได้หลักแสน งานที่ทำก็น้อยกว่า
"อาจสรุปได้ว่า แพทย์จบใหม่ยุคนี้มีความอึดน้อยกว่าในอดีต รักความสบาย จะมีเพียง 30-40% เท่านั้น ที่จะมีอุดมการณ์จริงๆ ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้จะทุ่มเทการทำงานในพื้นที่ชนบท สมมติว่า มีแพทย์จบใหม่ 10 คน จะมีอยู่เพียง 2-3 คนจะทำงานในชนบท และส่วนมากแพทย์เหล่านี้จะได้เป็นแพทย์ชนบทดีเด่นเสมอ" ผอ.รพ.สตูล กล่าว
เมื่อถามถึงสาเหตุ นพ.ธีระชัย บอกว่า สังคมในปัจจุบันมุ่งแต่วัตถุ ค่านิยมรักความสบาย นึกถึงตัวเงิน มากกว่าจะส่งเสริมเรื่องของจริยธรรม คุณงามความดี เมื่อแพทย์ที่จบใหม่บางคนต้องมาเจอกับความลำบาก ส่วนหนึ่งจึงขอลาไปศึกษาต่อ และสุดท้ายหันไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน หรือไปอยู่คลินิกเสริมความงามที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า มีความสะดวก สบายมากกว่า
เมื่อถามถึงการทำงานใน รพ.สตูล ที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในพื้นที่ อีกทั้งยังมีความต่างในด้านของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม นพ.ธีระชัย บอกว่า ที่สตูลยังไม่มีความต่างที่ชัดเจนเหมือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงประชากรที่นี่กว่า 70% เป็นมุสลิม แต่ส่วนมากพูดภาษากลางได้ เนื่องจากระบบการศึกษาที่สตูลเน้นให้มีการสอนภาษาไทยควบคู่ไปกับการเรียนในโรงเรียนปอเนาะ
สำหรับการทำงานที่ รพ.สตูล นพ.ธีระชัย กล่าวว่า การทำงานที่นี่เป็นการทำงานแบบพี่น้อง เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงผลงาน โดยมีตนเองเป็นผู้ให้การสนับสนุนและส่งเสริม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การปรับปรุงโรงครัว ให้เป็นครัวฮาลาล ที่ถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลาม จนเป็นต้นแบบของครัวฮาลาลให้กับโรงพยาบาลต่างๆ จนได้รับรางวัลต่างๆ
ทั้งนี้การทำงานของทุกฝ่ายต้องมีการเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และการทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้ บุคลากรขององค์กรจะต้องทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งความสุขในที่นี้หมายถึง ทุกคนจะต้องมีสุขภาพกายใจที่ดี ไม่ใช่ทำงานกันแบบเอาเป็นเอาตาย สุดท้ายร่างกายแย่ ครอบครัวล้มเหลว ที่นี่เราจะไม่เอาปริมาณงานมาเป็นตัวชี้วัด เราจะใช้ความสุขของคนที่ทำงานเป็นตัวชี้วัด ทำงานกันแบบบพี่น้อง ถ้อยทีถ้อยอาศัย ขณะเดียวกันผู้นำจะต้องมีหน้าที่พูดจูงใจ และทำเป็นตัวอย่าง สนับสนุนให้ผู้ร่วมงานได้แสดงผลงาน
"เชื่อหรือไม่ ในช่วงที่การเมืองร้อนแรง ลูกน้องคนไหนอยากจะเข้าร่วมชุมนุม ผมยังอนุญาตให้ไปได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ผมในฐานะผู้บริหารจะต้องวางตัวทางการเมืองในที่ทำงานจะไม่มีเรียกว่า ใครเป็นเหลือง เป็นแแดง ผมจะพูดว่า คือ คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน ในการชุมนุมที่ผ่านมามีทั้งสิ่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน" ผอ.สตูล กล่าว
สิ่งที่สร้างกำลังใจในการทำงานให้กับ นพ.ธีระชัย คือ ความถูกต้องและเป็นธรรม ทุกคนมีหน้าที่ของตนเอง ให้องค์กรมีความสุข ดูแลรักษาประชาชนให้ได้แบบใจเขาใจเรา
และนี่คือ มุมมองของ นพ.ธีระชัย ผอ.รพ.สตูล ที่มีต่อการทำงานในวิชาชีพแพทย์ของเขา
- 63 views