โพสต์ทูเดย์ -โรงพยาบาลเอกชนแนะปรับเกณฑ์เบิกจ่ายให้เร็วขึ้น ก่อนออกกฎห้ามเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉิน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปิดเผยว่า การเสนอออกกฎหมายห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุนประกันสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ทั้งที่มีนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี โดย สปสช.ได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งแต่หลายครั้งไม่ได้รับการตอบรับเนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับ โดยได้เตรียมรายละเอียดเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว
แหล่งข่าวระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนมีภาระมากจากการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งส่วนใหญ่ได้ช่วยเหลือด้วยการไม่เก็บค่ารักษาอยู่แล้วอย่างไรก็ตาม เกณฑ์การเบิกจ่ายค่อนข้างซับซ้อนและล่าช้า และยังมีปัญหาผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าอาการของตัวเองฉุกเฉินจริงหรือไม่ จึงอยากให้ทั้ง 3 กองทุนประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ โดยหากปรับปรุงแล้วจะออกกฎหมายก็ไม่ขัดข้อง
ขณะที่ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมาอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึง10 ทุรลักษณ์ หรือ 10 ประการของผู้นำที่คนสาธารณสุขไม่ยอมรับ ได้แก่ 1.เคยเป็นเด็กสร้างของนักการเมือง 2.เมื่อมีอำนาจได้กอดคอนักการเมืองทำลายโรงพยาบาลชุมชน 3.มุ่งทำลายหลักประกันสุขภาพ 4.ออกนโยบายP4P
5.ขัดขวางไม่ให้รถกู้ชีพเข้าพื้นที่ชุมนุม 6.ทำลายองค์การเภสัชกรรม7.เป็นนักฉวยโอกาสเปลี่ยนขั้วการเมือง8.มุ่งรวบอำนาจจากนายกแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 9.สั่งให้หน่วยบริการเลิกร่วมมือกับ สปสช. และ 10.ดึงหน่วยงานตระกูล ส.กลับมาดูแลเอง
ทั้งนี้ ทั้ง 10 ข้อเป็นผลงานของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ที่มีข่าวว่าอาจรับตำแหน่ง รมว.สธ.ในรัฐบาลชุดใหม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 มิถุนายน 2557
- 2 views