สถิติเด็กทารกเสียชีวิต พบเกินครึ่งตายตั้งแต่เดือนแรก กว่า 30% มาจากการคลอดก่อนกำเนิด ต้นเหตุมีเซ็กซ์วัยเรียน หากเด็กรอดมีโอกาสตาบอด เจ็บป่วยบ่อย กรมการแพทย์เล็งใช้เขตบริการสุขภาพเรื่องระบบสุขภาพเด็ก ตั้งเป้าลดเด็กเดือนแรกตายให้เหลือ 8 คนต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน

นนี้ (25 มิ.ย.) ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท กทม. นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกุมารเวชศาสตร์ “สุขภาพเด็กแห่งชาติ” ครั้งที่ 15 ว่า ขณะนี้พบการเสียชีวิตของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีนั้น ร้อยละ 50 คือ การเสียชีวิตตั้งแต่เดือนแรกของชีวิต มาจากการคลอดก่อนกำหนดกว่าร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นการติดเชื้อรุนแรง การขาดออกซิเจนหลังเกิด และปัญหาหัวใจพิการแต่กำเนิด ความเสี่ยงคือ การมีลูกตอนวัยรุ่นจะเสี่ยงสูงต่อการเกิดทารกคลอดก่อนกำหนด นำสู่ภาระโรคเรื้อรัง เจ็บป่วยบ่อย รวมทั้งปัญหาตาบอดในเด็ก
       
“เด็กไทยมีอัตราเด็กตาบอดสูงถึงร้อยละ 0.11 ใกล้เคียงกับประเทศในแถบแอฟริกา ซึ่งการเสียชีวิตตั้งแต่เกิดนี้ทำให้ไทยไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเป้าไว้ได้คือ ภายในปี 2566 คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น มีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 80 ปี และมีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 72 ปี” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
       
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องดำเนินการผ่านเขตบริการสุขภาพ ในเรื่องของระบบการดูแลสุขภาพเด็ก โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้กำหนดให้ลดการเสียชีวิตในทารกอายุ 1 เดือนแรก ต้องไม่เกิน 8 คนต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราตาบอดในเด็กไทยไม่เกินร้อยละ 0.04