มติชน -ปี 2557 เป็นปีแรกที่กองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 55 ปี ทั้งบำเหน็จชราภาพที่ผู้ประกันตนจะได้รับเป็นก้อน และบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนจะได้รับเป็นรายเดือน ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ประมาณการว่าจะมีผู้ประกันตนมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าวทั้งบำเหน็จและบำนาญ รวมทั้งสิ้นกว่า 130,000 คน ต้องจ่ายเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมออกไปกว่า 4.7 พันล้านบาท และในปี 2587 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบ

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล 

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้เปิดใจกับ "มติชน"ถึงการเตรียมการรับมือกับปัญหา

สถานการณ์กองทุนชราภาพในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ปัจจุบันอัตราการเก็บเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมในด้านสิทธิประโยชน์ชราภาพนั้นมีอัตราที่ไม่สมดุลกับอัตราจ่ายออกไป คือ เก็บจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ร้อยละ 3 แต่กองทุนต้องจ่ายเงินออกไปในอัตรา ร้อยละ 20 ซึ่งที่ผ่านมา เรากำหนดเพดานการส่งเงินสมทบโดยตั้งเพดานไว้ที่ 15,000 บาท มาตั้งแต่ปี 2533 เป็นเวลากว่า 24 ปี แล้ว ทั้งที่สภาพการณ์ของสังคม ทั้งสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก การเก็บเงินเข้าสู่กองทุนจึงไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

หากไม่มีการเตรียมการแก้ไขปัญหาจะเกิดอะไรขึ้นกับกองทุนประกันสังคม

หากไม่มีการเตรียมการแก้ปัญหาจากการศึกษาของคณะทำงานพบว่าภายใน 32 ปีข้างหน้า เงินกองทุนชราภาพก็จะหมด ซึ่งจะส่งผลต่อสถานภาพของกองทุนประกันสังคมโดยรวม เนื่องจากกองทุนชราภาพเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของกองทุนประกันสังคม มีจำนวนเงินคิดเป็นร้อยละ 90 ของกองทุน อาจทำให้กองทุนขาดเสถียรภาพได้

แนวทางในการแก้ปัญหาการขาดความสมดุลของกองทุนประกันสังคม

คณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคมของ สปส. ได้ศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยได้ออกมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา 6 ทาง คือ 1.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 1 และนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปี โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 13 และในส่วนนายจ้างอยู่ที่ร้อยละ 8 รวมอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพเท่ากับร้อยละ 21 หลังจากนั้นกำหนดให้อัตราเงินสมทบคงที่ในอัตราดังกล่าว ซึ่งจะช่วยยืดอายุของกองทุนออกไปได้อีก 46 ปี 2.การเพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญ 2 ปีทุก 4 ปี จนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี อาจใช้ปีเกิดเป็นเกณฑ์ เช่น ผู้ที่เกิดปี 2510 เป็นต้นไป จะมีสิทธิรับบำนาญเมื่ออายุ 62 ปี หรืออาจกำหนดปีที่จะปรับเพิ่มอายุเกษียณ เช่น ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป อายุเกษียณจะปรับเพิ่มปีละ 6 เดือน โดยอัตราเงินสมทบคงที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอยู่ที่ร้อยละ 3 ยืดอายุกองทุนได้ 37 ปี 3.เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 15 ปี เป็น 20 ปี โดยอัตราเงินสมทบเป็นอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ยืดอายุกองทุนได้ 33 ปี 4.การปรับการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจากฐาน 60 เดือนสุดท้ายของเงินเดือนเป็นตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบเพื่อใช้คำนวณเงินบำนาญ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ร้อยละ 19 และค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคมลดลงร้อยละ 19 เช่นกัน ยืดอายุกองทุนได้ 32 ปี 5.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุนได้ 58 ปี และ 6.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 พร้อมกัน ซึ่งจะทำให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพนานไปถึงปี 2629 หรืออีก 72 ปีข้างหน้า

มองว่าแนวทางไหนที่น่าจะมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้แก้ปัญหามากที่สุด

ผมมองว่าแนวทางที่น่าสนใจคือการใช้หลายแนวทางร่วมกัน เนื่องจากกองทุนชราภาพมีความสำคัญและเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพื่อพิจารณาต่อไป หากคณะอนุกรรมการมีความเห็นอย่างไรก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

ใช้ระยะเวลาในการกำหนดแนวทางเพื่อยืดอายุกองทุนชราภาพนานเท่าใด

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการศึกษาแนวทาง สภาพเศรษฐกิจ และบริบททางสังคมในขณะนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อสมาชิกกองทุนที่เป็นผู้ประกันตนหลายล้านคน จึงไม่สามารถรีบร้อนทำได้ หากมีการใช้แนวทางใดเพื่อการแก้ปัญหาจริงก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็น เหตุผล ที่จะต้องใช้มาตรการในการแก้ปัญหา

หลายคนมองว่าเตรียมการแก้ปัญหาเร็วไปหรือไม่

หากเราไม่เตรียมการแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะเป็นภาระกับคนในรุ่นถัดไป รวมทั้งการใช้แนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป จะปรับกะทันหันเลยไม่ได้ ต้องค่อยๆ ปรับในลักษณะเป็นขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขึ้น เพื่อให้ไม่กระทบต่อผู้ประกันตนมากนัก

สุดท้าย นพ.สุรเดชย้ำว่า การใช้วิธีไหนแก้ปัญหาก็ต้องคำนึงว่าไม่ให้กระทบกับประชาชนที่เป็นสมาชิกกองทุน และมาตรการดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มตอนนี้ แต่นี่...เป็นเพียงการมองไปถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเกิดในอนาคตเท่านั้น

--มติชน ฉบับวันที่ 10 มิ.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--