กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือรับมอบที่ดิน 12 ไร่จากกองทัพอากาศ เพื่อใช้ก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 120 เตียง ตรวจรักษาโรคทั่วไป และโรคเฉพาะทาง เพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์ของประชาชนเขตดอนเมือง หลักสี่ และพื้นที่ใกล้เคียง คาดเริ่มสร้างในเร็วๆ นี้
วันนี้ (9 มิถุนายน 2557) ที่ห้องรับรองพิเศษ 1 กองบัญชาการ กองทัพอากาศ กทม. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ และพลอากาศโทธีระภาพ เสนะวงษ์ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้มากขึ้นและดีขึ้น
ตามความร่วมมือครั้งนี้ กองทัพอากาศได้มอบที่ดินที่บริเวณทุ่งสีกัน จำนวน 12 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ อยู่ที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างกองทัพอากาศกับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการรักษาและการสร้างเสริมสุขภาพแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ ดูแลประชาชนทางโซนเหนือของกทม. คือเขตดอนเมือง เขตหลักสี่ พื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 300,000 คน ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชเพียงแห่งเดียว โดยโรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ จะให้การดูแล ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง หากมีอาการรุนแรงจะมีระบบส่งต่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลใหญ่เช่นรพ.ภูมิพลหรือรพ.ราชวิถี หรือโรงพยาบาลที่ในสังกัดกรมการแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่กทม. เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสถานที่พัฒนาบุคลากรทั้งการสอน อบรม ฝึก นักศึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทสำคัญในการจัดบริการดูแลด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วประเทศ สถานบริการสาธารณสุขกว่าร้อยละ 80 อยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาพรวมทั่วประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น มีปัญหาคุณภาพบริการรายโรคที่ต้องใช้เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ จึงได้วางแผนการพัฒนาระบบบริการทั้งประเทศ (service plan) ในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ แบ่งเป็น 12 เขตทั่วประเทศ ครอบคลุม 76 จังหวัด จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้เท่าเทียมกัน มีคุณภาพเหมือนกันทุกที่
ส่วนในเขตกรุงเทพฯเป็นเขตที่ 13 มีประชาชนอาศัยหนาแน่น 10-12 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนรวมถึงพื้นที่ปริมณฑลด้วย เนื่องจากมีปัญหาการเข้าถึงบริการที่ต่ำกว่าทุกเขตทั่วประเทศ ซึ่งในกทม.มีโรงพยาบาลที่สังกัดหลายหน่วยงาน เช่น กทม. โรงเรียนแพทย์ต่างๆ สังกัดทหารและตำรวจ รวมถึงเอกชน รวมทั้งหมดประมาณ 900 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง มีโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลระดับชุมชนน้อยมาก จึงเกิดความแออัดของผู้ป่วย เช่นที่โรงพยาบาลราชวิถีแห่งเดียว ต่อวันมีผู้ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกมากถึง 4,000 คน จึงต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น หรือมีสถานบริการสาธารณสุขไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้ดำเนินการจัดบริการร่วมกับกองทัพอากาศต่อไป คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเร็วๆนี้
- 405 views