มหกรรมการอ่านแห่งชาติ : “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” 28 องค์กร สานพันธกิจระดับชาติ คลายปมวิกฤตพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 0-6 ปี
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับ แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 – 2564 : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน 28 แห่ง จัดงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” ระหว่างวันที่ 10-11 ก.พ. 2561 เวลา 9.00-16.00 น. ณ แอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ มักกะสัน
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในฐานะประธานเปิดงาน ว่า “จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 ทางรัฐบาลได้มีการกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย กำหนดแนวทาง มาตรการเพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับภาคเอกชน หรือประชาสังคม โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ และ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เปรียบเหมือนการที่ครอบครัว โรงเรียน ได้ปลูกต้นไม้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดินอย่างไร เขาก็จะเติบโตขึ้นมาแบบนั้น หนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัย ก็เป็นสารอาหารชั้นดีที่จะเป็นรากฐานในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของประเทศอย่างมีคุณภาพ”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “จากวิกฤตพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ที่สำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า พัฒนาการล่าช้าโดยรวมร้อยละ 30 และพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม ดังนั้น กิจกรรม มหกรรมการอ่านแห่งชาติ “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยพ่อแม่ ครู ได้คัดเลือกหนังสือเด็กให้ลูกๆ และนักเรียนได้อ่าน
ขณะเดียวกันจะได้เห็นเทคนิคการอ่าน การส่งเสริมการอ่านมากมาย โดยเฉพาะการเล่านิทาน การอ่านในครอบครัว เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นในครอบครัวด้วย การอ่านตั้งแต่เยาว์วัย เป็นรากฐานสำคัญของการแสวงหาความรู้และสร้างเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต รวมถึงสร้างเสริมสุขภาพในทุก ๆ มิติ ช่วยหนุนเสริมพัฒนาเด็ก ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา ด้านสุขภาพ ด้านจิตใจคุณธรรม และด้านทักษะความสามารถต่างๆ เพื่อให้เด็กพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาประเทศไทย 4.0”
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่หนังสือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก แต่จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 พบว่า เด็กเล็กยังเข้าไม่ถึงการอ่าน 1.8 ล้านคน และผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558 – 2559 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วยการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศไทยเกือบ 6 ใน 10 คน (ร้อยละ 60) ที่มีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึง 3 เล่ม ในครอบครัวที่ยากจนมากเด็กเกือบ 8 ใน 10 คน (ร้อยละ 77) มีหนังสือในบ้านไม่ถึง 3เล่ม นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบอีกว่ามี “พ่อ”เพียง 1 ใน 3คน ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก เช่น อ่านหนังสือหรือร้องเพลงให้ลูกฟังเท่านั้น”
ภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจและสนุกสนานมากมาย ได้แก่ โซนเวทีมหัศจรรย์การอ่าน พบคนดลใจร่วมสร้างมหัศจรรย์แห่งการอ่าน มหัศจรรย์ลิเกนิทานและการอ่านบนฐานภูมิปัญญา บ้านอ่านยกกำลังสุขและโซนนวัตกรรมชุมชนอ่านยกกำลังสุข โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น จาก 15 พื้นที่ต้นแบบนำร่อง โซน Reading in Wonderland : ดินแดนนิทานจินตนาการ โซนตลาดนัดนักอ่านจาก 20 สำนักพิมพ์ โซนสานพลังองค์กรร่วมจัด มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการและกิจกรรมหนังสือดีเพื่อพัฒนาการ EF การขับเคลื่อนจังหวัดแห่งการอ่าน กิจกรรมบ้านนักเขียนหนังสือเด็ก กิจกรรมอ่านสร้างเสริมสุขภาพ ระดมจิตอาสาอ่านหนังสือเสียงให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฯลฯ
การขับเคลื่อนงานของแต่ละหน่วยงานในปัจจุบันที่ได้นำนโยบายของหน่วยงาน สู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของการสานพลังขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย อาทิ กศน. มีบ้านหนังสือชุมชนเพื่อขอใช้พื้นที่ในบริเวณบ้านเป็นที่อ่านหนังสือ โดยกระจายให้อยู่ตามหมู่บ้าน จำนวน 19,254 แห่ง มีโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ที่ค้าขาย ผู้มาซื้อสินค้ารวมถึงเด็กและเยาวชนเกิดนิสัยรักการอ่าน กรุงเทพมหานครที่เปิดห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ และพัฒนาการอ่านไปสู่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ยังคงเป็นสะพานแห่งความรู้ คู่สะพานแห่งความรักใช้หนังสือถักทอสติปัญญาให้แก่เด็กไทยต่อไป อย่างมีพลัง และเข้มแข็ง
อุทยานการเรียนรู้ TK park ที่พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ให้สังคมไทย ในรูปแบบ”ห้องสมุดมีชีวิต” เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในการส่งเสริมให้เกิดการใช้กองทุนสุขภาพตำบลเพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและการอ่าน ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสื่ออ่าน และ15 พื้นที่นำร่อง Best Practise การอ่านสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติของศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 คณะทำงานและภาคีเครือข่ายได้จัดพิธีประกาศพันธสัญญาประชารัฐหนุนเสริมแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 “เพื่อสานพลังสร้างพลเมืองไทยด้วยการอ่านสู่ Thailand 4.0” โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานคณะกรรมการบูรณาการการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นประธานรับมอบพันธสัญญา จากผู้แทน 28 องค์กร อาทิ กรมอนามัย, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), สภาการศึกษา, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park, องค์การยูนิเซฟประเทศไทย, มูลนิธิคนตาบอดไทย, สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป), โครงการเด็กไทยคิดได้ ต้านภัยสังคม, สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.), มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ กล่าวว่า “การได้เห็นภาพแห่งความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในงานครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ทุกหน่วยงานแม้แต่ประชาชนก็พร้อมที่จะส่งเสริมและพัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้เติบโตด้วยความพร้อมจากการรักหนังสือ มีนิสัยรักการอ่านเป็นพื้นฐาน แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ ด้วยทางกระทรวงวัฒนธรรมไม่สามารถขับเคลื่อน เพียงลำพัง ต้องทำงานบูรณาการร่วมกับทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากที่ปัจจุบันสภาพสังคมและเศรษฐกิจของทุกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมาก ส่งผลให้ทุกประเทศต้องปรับตัว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การอ่านและการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือและกระบวนการในการพัฒนาคุณภาพประชากรให้เป็นพลเมืองที่มีศักยภาพ มีขีดความสามารถ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นประเทศไทยยุค 4.0”
- 266 views