โวยรพ.เด็กแออัด ผู้ป่วยล้น เหตุไร้จุดบริการผู้ป่วยนอก ผอ.รพ.เด็กแจงปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 54 แต่ผู้รับจ้างล่าช้า จึงต้องบอกเลิกสัญญา และขออนุมัติใหม่ ขณะนี้เสนอเรื่องไปยังอธิบดีกรมการแพทย์เพื่อขออนุมัติจากปลัดสธ.ต่อไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับข้อมูลจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน เขตพญาไท แจ้งว่า ขณะนี้มีพ่อแม่ ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งเข้ามาร้องทุกข์ถึงความไม่สะดวกในการรับบริการที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก เนื่องจากสถานที่คับแคบ ขณะเดียวกันบริเวณด้านหน้าของจุดบริการผู้ป่วยนอกก็ไม่สะดวก เนื่องจากยังมีการก่อสร้าง ปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ โดยได้ปิดไปตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2554 ซึ่งปิดพื้นที่เป็นเวลากว่า 2 ปี ขณะที่พื้นที่ตรวจผู้ป่วยนอกชั่วครวก็คับแคบ ห้องตรวจ ห้องเอ็กซเรย์ ห้องจ่ายยา ไม่ได้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ส่งผลกระทบในการให้บริการผู้ป่วยและบุคลากร เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสภาพการรอคิว เด็กที่ป่วยต่างร้องไห้งอแง จึงต้องมาร้องทุกข์ เพื่อประสานปรับปรุงแก้ไขต่อไป
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเห็นใจและเข้าใจผู้ป่วยทุกคน ทั้งเด็ก และพ่อแม่ ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมารักษาพยาบาล เนื่องจากสถานที่อาจไม่สะดวก ขณะที่ผู้ป่วยมีจำนวนมาก โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยมารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกวันละ 1,000 คน หรือคิดเป็น 370,000คนต่อปี ส่วนผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวมีประมาณ 17,000 คนต่อปี โดยรพ.ได้มีการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอกด้วยงบประมาณราว 46 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปี 2554 มีแผนในการดำเนินการแล้วเสร็จ 8 เดือน แต่เนื่องจากประสบปัญหาผู้รับจ้างล่าช้า จึงมีการบอกเลิกสัญญาในปี 2556 แต่ขณะนี้ได้เดินเรื่องต่อเพื่อขออนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบขั้นตอน เพื่อให้การปรับปรุงอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จ โดยขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปยังอธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อนำเสนอขออนุมัติจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
ด้านนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญ เพื่ออำนวยการสะดวกแก่ผู้ป่วย และญาติที่มารับบริการ โดยตนได้นำเสนอเรื่องให้ปลัดสธ.พิจารณาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอกนั้น ก่อนหน้านี้ทางผู้อำนวยการรพ.ได้ทำหนังสือขอความกรุณาพิจารณาอนุมัติเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 โดยระบุว่า โครงการนี้ ใช้งบประมาณจำนวน 46,440,000 บาท ซึ่งเป็นเงินงบประมาณปี 2554 และสมทบจ่ายด้วยเงินบำรุง โดยโครงการดังกล่าวมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน แต่ประสบปัญหาผู้รับจ้างทำงานช้า กรมการแพทย์จึงอนุมัติบอกเลิกสัญญา ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 และให้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ด้วยวิธิพิเศษ แต่เนื่องจากวงเงินเกินอำนาจอธิบดีกรมการแพทย์ จึงต้องเสนอเรื่องให้ปลัดสธ.พิจารณาและอนุมัติต่อไป
- 27 views