ไทยโพสต์ -กลุ่มงานประกันสุขภาพสังคายนาบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ปรับลดค่าบัตรแรงงานประมงลง 500 บาท คุ้มครอง 3 เดือน ส่วนแรงงาน อื่นๆ ขายบัตรราคาเดิม 2,200 บาท พร้อมอาจบังคับให้แรงงานต่างด้าวต้องซื้อประกันสุขภาพก่อนทำงานในไทย และยกเลิกสิทธิ์ต่างชาติที่ซื้อบัตรแต่เป็นแรงงานเทียม
นพ.บัญชา ค้าของ ผอ.กลุ่มงานประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพิจารณากำหนดอัตราการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับกรมจัดหางานและแรงงานพิจารณาบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในภาคการประมง ว่าควรลดค่าบัตรประกันสุขภาพออกเป็นช่วงๆ ทุกๆ 3 เดือน ครั้งละประมาณ 500 บาท แต่สำหรับผู้ที่ซื้อบัตรครั้งแรกจะต้องเสียค่าตรวจสุขภาพจำนวน 600 บาท จากเดิมการทำบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวจะอยู่ที่ 2,200 บาท บวกค่าตรวจสุขภาพอีก 600 บาท ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับการจดทะเบียนแรงงานของกรมจัดหางานที่ได้มีการปรับมาเป็นทุกๆ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม อัตราบัตรประกันสุขภาพที่ปรับใหม่นั้นจะให้สิทธิเฉพาะแรงงานภาคประมงเท่านั้น เพราะต้องออกทะเลเป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้เข้าฝั่ง ส่วนแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่นจะกำหนดให้การซื้อบัตรประกันสุขภาพเป็นไปตามระยะการขอสัญญาจ้างงานปีละ 1 ครั้ง ในอัตรา 2,200 บาท ทั้งนี้ จะมีการเสนอให้ที่ประชุมรับรองในการประชุมครั้งหน้าก่อนประกาศใช้
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญหาที่คือ แรงงานต่างด้าวที่มาตรวจสุขภาพแล้วไม่ยอมซื้อบัตรประกันสุขภาพ ก็จะต้องมีการเข้มงวดให้โรงพยาบาลของรัฐบังคับให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพหลังจากตรวจสุขภาพแล้วทันที ขณะเดียวกันก็จะหารือร่วมกับกรมจัดหางานกระทรวงแรงงาน ว่าอาจจะต้องบังคับให้แรงงานต่างด้าวต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพก่อนจึงจะได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศ ทั้งนี้ แรงงานกลุ่มที่เป็นปัญหาไม่ยอมซื้อบัตรประกันสุขภาพส่วนใหญ่เป็นแรงงานในระบบซึ่งสังกัดสำนักงานประกันสังคมประมาณ 4 แสนคน จากทั้งหมด 7 แสนคน ส่วนแรงงานนอกระบบ เช่น แรงงานที่ทำงานตามบ้าน ภาคเกษตร และภาคประมง ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่ค่อยมีปัญหา ซึ่งขณะนี้ได้ทำบัตรประกันสุขภาพครอบคลุมไปจำนวน 435,056 คนแล้ว จากที่มีประมาณ 5 แสนคน
ส่วนกลุ่มคนต่างด้าวประเภทที่ 2 เป็นชาวต่างด้าวที่ไม่ได้เป็นแรงงาน แต่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยค่อนข้างถาวร มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร แต่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เข้ามาอาศัยในราชอาณาจักรไทย ที่ได้ให้ทางโรงพยาบาลชะลอการขายบัตรไป เนื่องจากส่งผลต่องบประมาณของโรงพยาบาลไปนั้น คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือในคณะกรรมการกลุ่มประกันสุขภาพ เพื่อหารือเรื่องสิทธิประโยชน์ และวงเงินประกันสุขภาพที่เหมาะสม ว่าจะขายประกันสุขภาพในอัตราเท่าไหร่ หรือควรที่จะขายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวประเภทที่ 2 ต่อไปหรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 4 มิถุนายน 2557
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดขายบัตรฯตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2556 เป็นต้นมา โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องขายให้ได้ 1.5 ล้านบัตร ในรอบ 1 ปี ซึ่งบัตรประกันสุขภาพแบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่
1.กลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและรอเข้าสู่ระบบการประกันสังคม กำหนดซื้อในอัตราคนละ 1,150 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ จำนวน 550 บาท มีอายุคุ้มครอง 90 วัน หลังจากนั้นก็จะอยู่ในความดูแลของระบบประกันสังคม
2.กลุ่มคนต่างด้าวทั่วไปที่ใช้แรงงานและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น รับจ้างทำงานภาคเกษตร ประมง ก่อสร้าง หรือติดตามครอบครัว อัตราคนละ 2,800 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี
3. กลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์อัตราคนละ 365 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี นับจากวันที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ
ในการตรวจสุขภาพต่างด้าว ได้กำหนดมาตรฐานตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่กำหนดได้แก่ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือดหาเชื้อซิฟิลิส เชื้อพยาธิโรคเท้าช้าง ตรวจปัสสาวะหาสารแอมเฟตามีน และการตั้งครรภ์ ตรวจสภาวะโรคเรื้อน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดควบคุมโรคในต่างด้าวรวม 5 โรคได้แก่ วัณโรค โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคซิฟิลิส และโรคพยาธิในลำไส้ จะให้ต่างด้าวทุกคนกินยาฆ่าเชื้อพยาธิเท้าช้าง และยาฆ่าพยาธิในลำไส้ เพื่อควบคุมโรคในวันที่ตรวจสุขภาพ และหากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อก็จะติดตามให้ยารักษาจนหายขาด และจะให้ใบรับรองแพทย์แก่ต่างด้าว เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการอนุญาตทำงาน มีอายุ 60 วัน
สำหรับสิทธิประโยชน์ในการประกันสุขภาพ ในกลุ่มของผู้ใหญ่จะได้รับการดูแลด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การบริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพ คลอดบุตร ป่วยฉุกเฉิน ยาต้านไวรัสเอดส์ การรักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ผ่าตัดสมอง เป็นต้น บริการทำฟันเช่น ถอนฟัน ขูดหินปูน ส่วนสิทธิประโยชน์ในกลุ่มของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น ฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐาน บริการทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง บริการยาต้านไวรัสเอดส์ ในกรณีที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ ทั้งแม่และเด็กจะมีบัตรสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อติดตามสุขภาพอนามัย พัฒนาการ จนเด็กอายุ 5 ขวบ
ชุดสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่ไม่คุ้มครองในแรงงานต่างด้าว ได้แก่ โรคจิต การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด การรักษาภาวะมีบุตรยาก อุบัติเหตุจากรถที่ใช้สิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ การผสมเทียม การผ่าตัดแปลงเพศ การกระทำใดๆเพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาใดๆที่เกินจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การเปลี่ยนอวัยวะ การทำฟันปลอม
- 119 views