เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ชู ความร่วมมือ สปสช. เครือข่ายเอดส์ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ส่งผลสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยเอดส์พัฒนาต่อเนื่อง ช่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสคุณภาพ การรักษา รวมทั้งเดินหน้างานป้องกันลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ พร้อมเผย ปีงบ 58 มติบอร์ดสปสช.เตรียมปรับเกณฑ์ใหม่ จ่ายยาต้านไวรัสให้ผู้ติดเชื้อทุกราย ไม่จำกัดค่าซีดีโฟ
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล ต้องยอมรับว่า ในช่วง 10 ปี กองทุนรักษาพยาบาลแต่ละกองทุนมีการพัฒนาไปมาก แต่ต้องยอมรับว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง มีความก้าวหน้ากว่ากองทุนอื่นๆ ทั้งในการคุ้มครอง การรักษา ที่ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนสิทธิประโยชน์เอดส์เช่นกัน มีการพัฒนาทั้งการเข้าถึงยาต้านไวรัส การรักษา รวมไปถึงการจัดบริการตรวจเลือดแบบสมัครใจที่เป็นการป้องกันและค้นหาผู้ป่วย
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนการจัดบริการตรวจเลือดแบบสมัครใจ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้กำหนดให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจเลือดฟรี ปีละ 2 ครั้ง ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ผู้ที่มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่เปิดให้ประชาชนที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลในทุกสิทธิเข้ารับการตรวจเลือดฟรีได้ ไม่เพียงทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักต่อการป้องกันมากขึ้น แต่กรณีที่ผลตรวจเลือดเป็นบวก จะได้เข้าสู่ระบบการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะการรับยาต้านไวรัส ทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้แต่เดิมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทนั้น กำหนดหลักเกณฑ์ให้ยาต้านไวรัสเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีค่าซีดีโฟต่ำกว่า 200 เท่านั้น และในปัจจุบันขยับเป็นค่าซีดีโฟต่ำกว่า 350 ลงไป แต่ในปีงบประมาณ 2558 นี้ มีข่าวดี มติบอร์ดสปสช. ได้ปรับหลักเกณฑ์ โดยจะให้ยาต้านไวรัสกับผู้ที่พบการติดเชื้อเอชไอวีทันที ไม่จำกัดว่าจะมีค่าซีดีโฟอยู่ในระดับใด เป็นการให้การรักษาโดยทันที
“การทำงานเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตรวจเอชไอวีฟรีในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นับเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สปสช. สธ. สภากาชาดไทย ภาคประชาชน และรวมถึงภาคเอกชน ที่ต่างร่วมมือกัน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ โดยในส่วน สปสช. เป็นผู้กำหนดสิทธิประโยชน์นี้ ภาคประชาชนทำหน้าที่รณรงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการตรวจเลือด ขณะที่ภาคเอกชนสนับสนุนการตั้งจุดบริการตรวจนอกสถานที่ อย่างเช่นที่ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 10,000 รายต่อปีลดลง” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนยาต้านไวรัส อดีตยาต้านไวรัสเอดส์มีไม่กี่ชนิด แต่จากที่ประเทศไทยประกาศซีแอลยา และให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดหาและผลิตยา ส่งผลให้มียาต้านไวรัสเอดส์เพิ่มขึ้น จึงไม่มีปัญหาการเข้าถึง แต่โจทย์ที่ต้องคิดต่อจากนี้คือ การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นโรคร่วม อย่าง โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมถึงโรคไต ให้เข้าถึงการรักษามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีปัญหาจากความไม่เข้าใจของผู้ให้บริการ จึงเกิดการปฏิเสธรักษา และแนะนำให้ไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นแทน ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกับผู้ให้บริการ และให้มีการจัดบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีโรคร่วมเหล่านี้
“ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา การดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ต้องบอกว่า เป็นระบบที่ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรักษาพยาบาลอื่นๆ ซึ่งความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับบริการ ผู้ป่วย และภาคประชาชน ในระดับบอร์ด สปสช.และระดับเขต ในการสะท้อนความต้องการรักษาพยาบาล ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่เข้มแข็ง” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนทิศทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพหลังจากนี้ อยากให้กองทุนรักษาพยาบาลที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และรวมไปถึงกองทุนรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติ มีสิทธิประโยชน์การรักษาที่เท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์น้อยกว่าระบบอื่นมาก จึงอยากให้มีการปรับเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับกองทุนรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องรวมเป็นกองทุนเดียวกัน แต่แยกการบริหารโดยให้มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน
- 7 views