กรมสุขภาพจิต แนะผนึกพลังชุมชน เปลี่ยน “เหยื่อ” เป็น “ผู้กอบกู้วิกฤต” ยาดี สำหรับผู้ประสบภัย
วันนี้ (29 พ.ค.57) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากรายงานการช่วยเหลือและฟื้นฟูทางจิตใจผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวพื้นที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT : Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) รพ.สวนปรุง รพ.แม่ลาว รพ.สต.ดงมะดะ รพ.สต.ห้วยส้านพลับพลา รพ.สต. โป่งแพร่ และ รพ.สต.ป่าก่อดำ พบว่า ประชาชนบางส่วนยังมีอาการผวา ตกใจง่าย กลางคืนนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท คิดมาก วิตกกังวล และบางรายมีอารมณ์เศร้าเบื่อหน่ายท้อแท้ ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 111 ราย พบ เครียดสูง 28 ราย ซึมเศร้า 60 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1 ราย โดยได้ให้ยาทางกายแก่ผู้รับบริการ จำนวน 16 ราย และยาทางจิตกับผู้ป่วยใหม่ จำนวน 79 ราย ตลอดจนได้ให้คำแนะนำปรึกษาและให้ความรู้สุขภาพจิตเกี่ยวกับปฏิกิริยาการตอบสนองต่อเหตุการณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจเพื่อรู้เท่าทันสภาวะอารมณ์ของตนเอง รวมทั้ง วิธีการเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการสำคัญในการเผชิญกับปัญหาหรือเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด คือ การอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสภาวะเหยื่อจากภัยพิบัติมาเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งต้องดึงพลังชุมชนเข้ามาช่วยเหลือและจัดการปัญหากันเองภายในชุมชน ไม่รอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว การเป็นผู้รับย่อมมีโอกาสผิดหวัง โกรธแค้น และสิ้นหวังมากกว่าการเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤต ยิ่งคนจมอยู่กับความสูญเสียมากเท่าไร จะยิ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและการทำร้ายตนเองมากขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยน จาก “เหยื่อ” มาเป็น “ผู้กอบกู้วิกฤต” จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พบว่า มีหลายชุมชนได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสรวมตัวกันแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของตนเอง เช่น ชุมชนบ้านสันมะแฟน ตำบลธารทอง อำเภอพาน ถึงแม้ ต้องประสบกับความตกใจ หวาดกลัว วิตกกังวล รวมทั้งต้องสูญเสียที่พักอาศัย แต่ทุกคนได้รวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เช่น อาหาร น้ำ ที่นอน ตลอดจน วางแผนซ่อมและสร้างบ้านด้วยตนเอง โดยสร้างเรียงลำดับกันเองทีละหลัง เป็นการรวมตัวกันโดยไม่มีแกนนำ แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก เช่นเดียวกับชาวบ้าน หมู่บ้านห้วยส้านยาว อ.แม่ลาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างมาก เป็นจุดที่รุนแรงที่สุดที่ได้ชื่อว่า “แผ่นดินแยก” แต่ก็ยังพบว่า ชาวบ้านได้ช่วยเหลือกันเอง โดยทุกคนจะมานอนรวมกัน ทำอาหารรับประทานร่วมกัน เมื่อได้รับความช่วยเหลือเป็นเงิน อาหาร น้ำ จะนำมาไว้ที่กองกลางแบ่งปันกัน และเมื่อได้รับของบริจาค เช่น อิฐ ปูน ทราย จะเก็บไว้ที่กองกลางเพื่อซ่อมแซมสร้างบ้านโดยใช้แรงงานผู้ชายจากในหมู่บ้าน และวางแผนจะซ่อมและสร้างบ้านที่ได้รับความเสียหายทีละหลังโดยการตกลงร่วมกันว่าจะซ่อมบ้านใครก่อนและหลัง รวมทั้ง ชุมชนบ้านดงขนุน อ.พาน ก็เช่นเดียวกันที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ร่วมกันคิดหาทางช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยการร่วมแรงร่วมใจและร่วมทุนในการช่วยกันซ่อมแซมบ้านเรือนที่พังเสียหาย ไม่รอการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยพบว่า ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้ที่มีการผนึกกำลังช่วยเหลือกันและกันจะมีสภาพจิตใจที่ฟื้นฟูดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ความเข้มแข็งของชุมชน (Community resilience) มีส่วนสำคัญต่อการรับมือกับภัยพิบัติ โดยบทบาทของชุมชนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับคนในชุมชน (A sense of safety ) โดยเป็นศูนย์กลาง/ประสานในการเตรียมที่พักพิงชั่วคราว ดูแลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ผู้ที่สูญเสียครอบครัว ผู้บาดเจ็บ ผู้ที่อ่อนแอ ผู้สูงอายุและเด็ก 2. การสร้างความสงบทางใจให้คนในชุมชน (Calming) โดยประสานให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปของคนในครอบครัวที่สูญหายหรือเจ็บป่วย ทรัพย์สิน บ้านเรือน สื่อสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้คนในชุมชนตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก สนับสนุนให้ในครอบครัวอยู่ร่วมกัน เอาใจใส่ดูแลรักษาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ทำจิตใจให้สงบด้วยการใช้หลักทางศาสนา พูดคุยปลอบขวัญให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และหากิจกรรมการผ่อนคลายความเครียด 3. สนับสนุนการรวมพลังของคนในชุมชน (connectedness) เพื่อร่วมกันช่วยเหลือดูแลผู้อื่น เช่น กลุ่มจิตอาสา กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีและความสามัคคีในชุมชน 4. เร่งฟื้นฟูความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนและคนในชุมชน (Sense of self and collective efficacy) โดยร่วมมือกันบริหารจัดการช่วยเหลือคนในชุมชนอย่างเป็นระบบ จัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สำรวจความต้องการของผู้ประสบภัย ร่วมกันวางแผนและช่วยเหลือครอบครัวในชุมชน/ผู้อ่อนแอ ให้มีปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 5. สร้างความตระหนักให้คนในชุมชนรู้สึกมีความหวัง มีอนาคตที่ดีรออยู่ (Hope) พูดคุยถึงส่วนที่ดี ความช่วยเหลือ การสนับสนุน และสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
สำหรับข้อแนะนำในการดูแลจิตใจภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว นพ.ยงยุทธ แนะว่า
1. พยายามดูแลรักษาสุขภาพกายใจให้แข็งแรง ไม่ควรปล่อยให้ความไม่สบายใจมาครอบงำ ครอบครัวต้องพยายามช่วยดูแลซึ่งกันและกันเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ เช่น การรับประทานอาหารตรงเวลา ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ศาสนาทำจิตใจให้สงบ พูดคุยระบายความทุกข์ หรือใช้วิธีผ่อนคลายความเครียด
2. ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ใช้ศักยภาพของตนเองที่มีอยู่ช่วยเหลือเพื่อนในชุมชน เช่น การแบ่งปันสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต การช่วยดูแลคนเจ็บป่วย ช่วยดูแลเด็กเล็ก การช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้ไม่คิดแต่เรื่องของตัวเองและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและผู้อื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย
3. รวมพลังเพื่อชุมชน โดยให้ผู้ประสบภัยได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตัดสินใจ ช่วยเหลือคนในชุมชนและฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาใหม่ด้วยกำลังของชุมชนเอง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้เกิดความความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจ ความสามัคคี รู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็งและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
สำหรับผู้ประสบภัยที่มีอาการ ตื่นตระหนก หวาดกลัว วิตกกังวล เครียด บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า โกรธ อ่อนเพลีย ใจสั่น อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ – 1 เดือน แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วยังไม่ดีขึ้นควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยเร็ว หรือ สามารถขอรับบริการปรึกษา ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
- 1 view