รพ.ศิริราช สร้างความแปลกใหม่ให้วงการหมออีกครั้ง ด้วยการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์หวังลดความแออัดในโรงพยาบาลหลังพบว่ามีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 9,000-10,000 คน ใช้เวลารอรับยานานเกือบชั่วโมง

ภก.วิชิต  ตั้งจิตติพร หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช ประธานคณะทำงานการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ กล่าวว่า  การจัดส่งยาทางไปรษณีย์เป็นแนวคิดของ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ด้านบริการผู้ป่วยนอกและพัฒนาคุณภาพ ที่ได้เห็นปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องมารอรับยาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะส่งกระทบในหลายๆ ด้าน จึงเกิดแนวคิด “ศิริราชก้าวไกล ส่งยาทั่วไทยทางไปรษณีย์” ในรูปแบบ “One Stop Service” ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยได้จับมือกับไปรษณีย์ไทย จัดส่งยาแบบ EMS ทั่วประเทศให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆในราคา 150 บาททั่วประเทศ

โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 ข้อ ได้แก่

1.มีความปลอดภัยในการจัดส่ง

2.ยาที่จัดส่งต้องมีคุณภาพในการรักษา

3.มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

4.มีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเสริมใน 3 ข้อข้างต้น

ภก.วิชิต กล่าวว่า ที่ โรงพยาบาลศิริราชมีจำนวนผู้ป่วยนอกมาใช้บริการประมาณวันละ 9,000-10,000 คน มีจำนวนใบสั่งยาในชั่วโมงเร่งด่วนมากกว่า 8,000 ใบสั่งยา ในขณะที่ทางโรงพยาบาลมีเภสัชกรเพียง 200 คน เท่านั้น   ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องใช้เวลารอยาในชั่วโมงเร่งด่วนนานเฉลี่ยคนละ 45 นาที จึงเกิดแนวความคิดนี้

ซึ่ง ภก.วิชิต ได้ให้รายละเอียดของการส่งยาทางไปรษณีย์ว่า หลังเข้ารับการตรวจรักษาและได้รับใบสั่งยาจากแพทย์แล้ว  ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับการประเมินจากเภสัชกรในการใช้ยาว่า สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย และเป็นผู้ป่วยที่สามารถควบคุมอาการได้คงที่แล้ว ผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมรับยาทางไปรษณีย์ ตามขั้นตอนที่ทางโรงพยาบาลกำหนดไว้  ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้เริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อ วันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการแล้ว 300 ราย แบ่งเป็นพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 53.18% ต่างจังหวัด 46.82%  ผู้ป่วยจะได้รับยาภายใน 1-3 วันสำหรับพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล 3-4 วันในต่างจังหวัด และยังได้มีบริการสอบถามเรื่องยาได้ที่หมายเลข 0-2419-9019

ข้อดีของโครงการดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยใช้เวลาในการตรวจและรอใบสั่งยาไม่เกิน 45 นาที ผู้ป่วยไม่เสียเวลาในการรอรับยา สามารถไปรอรับยาที่บ้านได้ ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าโครงการส่วนมากมีความพึงพอใจต่อบริการดังกล่าวอย่างมาก

“ในเบื้องต้นมีข้อจำกัดว่า ทางโรงพยาบาลจะสามารถจัดส่งยาให้ได้ในผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ต้องกินยาต่อเนื่อง แต่กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทนั้นไม่สามารถส่งทางไปรษณีย์ได้ เพราะมีข้อห้ามตามกฎหมาย ส่วนยาน้ำและยาที่ต้องอยู่ในตู้เย็นไม่สามารถส่งได้ ส่วนเรื่องที่ผู้ป่วยจะเกรงว่าการส่งทางไปรษณีย์ความร้อนจะส่งผลกระทบต่อยาหรือไม่ ในเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการวิจัยแล้วว่า ไม่มีผลกระทบใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเภสัชกร”

อย่างไรก็ตาม ภก.วิชิต ระบุว่า  ในการทำงานของเภสัชกรโดยทั่วไปอาจจะเกิดความผิดพลาดได้เพียง  0.05 ต่อ 1,000 ใบสั่งยา  หรือไม่ถึง 1% ซึ่งจะเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเช่น ผิดจำนวน ผิดวิธีใช้ เป็นต้น  ซึ่งเวลาที่เกิดความผิดพลาดกลับไม่ใช่ช่วงเวลาที่เร่งด่วน แต่สำหรับในการบรรจุส่งยาทางไปรษณีย์ ทางเภสัชกรจะใช้ช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ในการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีกล้องวิดีโออัดเทปในการทำงาน ทุกขั้นตอน จึงสามารถการันตีได้ว่าการจัดส่งยามีความปลอดภัยและถูกต้อง 100% ซึ่งสามารถจัดส่งได้ถึงวันละ 20-30 ราย  ในปัจจุบัน 78% ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ยามากขึ้น

“ที่ผ่านมาเรามีการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวน้อยมาก และเรื่องของข้อจำกัดทางบุคลากรยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการทำงาน แต่มีโชคดีอยู่ที่ว่า เรายังมีการประชุมเพื่อสรุปหาข้อดีข้อเสียของการทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยให้การทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ”

สุดท้าย ภก.วิชิต กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดบุคลกรด้านเภสัชกรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีการเก็บสถิติเหมือนกับแพทย์ พยาบาล จึงทำให้ไม่มีหน่วยงานใดสนใจที่จะเพิ่มบุคลากรด้านเภสัชให้เพียงพอต่อประชาชน