เด็กไทยเกิดน้อยลงเหลือ 8 แสนคนต่อปี แต่เกิดจากแม่วัยรุ่นมากขึ้น กรมอนามัยเดินหน้างานอนามัยเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นมากขึ้น หวังแก้ปัญหา

วันนี้ (21 พ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติครั้งที่ 4 “อนามัยการเจริญพันธุ์ : ประชากรคุณภาพ” สนับสนุนโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) มูลนิธิคอนเซ็ปท์ (Concept Foundation) ว่า ปัจจุบันจำนวนเด็กแรกเกิดลดเหลือปีละ 8 แสนคน แต่เกิดจากวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีมากขึ้น เห็นได้จากอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปี เพิ่มจากร้อยละ 50.1 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 53.8 ในปี 2555 ซึ่งผลจากการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นยังส่งผลกระทบตามมาหลายด้าน อาทิ เด็กแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม่มีอายุน้อยลง ก็จะพบการเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้น รวมถึงอัตราการทำแท้งและความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา ซึ่งล้วนมีผลต่อคุณภาพประชากรที่จะเติบโตในอนาคต
       
นพ.อำนวย กล่าวว่า แผนประชากรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประชากรไทยทุกคนเกิดมามีคุณภาพได้รับการพัฒนาทุกช่วงวัย ให้สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของประเทศ พร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีสวัสดิการอย่างยั่งยืนโดยครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วม โดยมียุทธศาสตร์ 3 ข้อ คือ 1. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ประชากรไทยทุกคนเกิดมามีคุณภาพพร้อมที่จะพัฒนาเต็มศักยภาพเมื่อเติบโตขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีในทุกช่วงวัยและส่งเสริมให้ประชากรไทย ที่มีความพร้อมให้มีบุตรเพิ่ม 2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพประชากรไทยทุกช่วงวัย เพื่อเป็นพลังต่อการเจริญเติบโตของประเทศ และ 3. ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีสวัสดิการทางสังคมอย่างยั่งยืน
       
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และลดปัญหาการตั้งครรภ์ให้เด็กที่เกิดทุกรายปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่สตรีมีความพร้อมและตั้งใจ ดังนี้ 1. ส่งเสริมการส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์แบบบูรณาการ 2. ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น เช่น สนับสนุนการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงการให้คำปรึกษาบริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ และ 3. ส่งเสริมการเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัว และอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ชายหญิงวัยเจริญพันธุ์มีความรู้เกิดความตระหนัก และเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ และบริการคุมกำเนิดที่เหมาะสม