สบส.ออกประกาศกำหนดมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉิน คลุมโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน จี้รักษาผู้ป่วยจนพ้นวิกฤติ แจ้งการรักษา และเบิกเงินจาก สปสช.เท่านั้น ห้ามเก็บเงินจากผู้ป่วย ฝ่าฝืนมีโทษทั้งปกครอง และอาญา จับ ปรับ ยึดใบอนุญาต ด้าน สมาคมรพ.เอกชน ฉุน ออกประกาศไม่ถามความเห็น แถมคลุมเครือในทางปฏิบัติ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องมาตรฐานด้านการแพทย์ฉุกเฉินของสถานพยาบาล พ.ศ. 2557 ซึ่งออกตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินเป็นหลัก ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 เม.ย.และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2557 ในสาระหลักได้นิยามคำว่าผู้ป่วยฉุกเฉินออกเป็น 3 ระดับโดยอิงกับพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คือ ฉุกเฉินวิกฤติ ใช้สัญลักษณ์สีแดง ฉุกเฉินเร่งด่วน ใช้สัญลักษณ์สีเหลือง และฉุกเฉินไม่เร่งด่วน ใช้สัญลักษณ์สีเขียว แต่ละสถานพยาบาลซึ่งรวมไปถึงภาคเอกชนว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น คัดแยกผู้ป่วย ให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจนพ้นวิกฤติ หากจำเป็นต้องส่งต่อต้องดำเนินการส่งต่อตามมาตรฐาน ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยไปเอง
นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน เข้าได้ทุกโรงพยาบาล โดยไม่ถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่ายด้วย โดยในกรณีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสีแดงเข้ารับการรักษา ทางโรงพยาบาลเอกชนต้องให้การรักษาตามมาตรฐาน แจ้งดำเนินการการรักษา และเรียกเก็บเงินด้วยวิธีการตามหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขตามหน่วยงานที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งถ้าแปลตามความหมายคือไม่ให้เก็บเงินผู้ป่วยวิกฤติ แต่ให้ไปเรียกเก็บจากหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเคลียร์ริ่งเฮาส์ของโครงการ
ทั้งนี้หากไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้จะมีผลทางกฎหมาย 2 ประการคือ 1. โทษทางปกครอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้สามารถสั่งให้สถานพยาบาลเอกชนแก้ไขหรือปฏิบัติตามได้ หรือถ้าหากรุนแรงมาก อาจจะสั่งปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ไปจนถึงการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้เลย 2. โทษทางอาญามาตรา 35 (4) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบให้โรงพยาบาลปฏิบัติตามฉบับดังกล่าว หากไม่ดำเนินการจะมีผลทำให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 65 ของพ.ร.บ.สถานพยาบาล และเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติจริงๆ อาจจะต้องทำหลายๆ ระบบร่วมกันเช่น การตรวจสอบ การให้คำแนะนำ เรื่องการปรับปรุงสถานพยาบาลส่งต่อ การปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งส่วนนี้ สปสช.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำเรื่องนี้แล้ว
“และเมื่อเร็วๆ นี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เชิญสถานพยาบาลเอกชนมาชี้แจงแล้ว จากที่เห็นทางโรงพยาบาลเอกชนรับทราบและยินดีปฏิบัติตาม แต่มีข้อท้วงติงในเรื่องของระบบส่งต่อไปยังต้นสังกัดหลังพ้นวกฤต และอัตราค่ารักษาที่ยังน้อยอยู่ อาจจะต้องมีการพิจารณาด้วย นอกจากนี้อาจจะต้องเสนอให้ สปสช.พิจารณากรณีพ้นภาวะวิกฤติเพราะมีบางประเด็นที่ยังไม่สามารถระบุขอบเขตที่ชัดเจนได้” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์
ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ตั้งแต่มีการประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนออกมาเมื่อเดือนเม.ย.ปี 2555 ทางโรงพยาบาลเอกชนให้ความร่วมมือมาตลอด เพราะฉะนั้นหากมีข้อติดขัดตรงไหนก็อยากให้มีการหารือร่วมกัน แต่ประกาศฉบับดังกล่าวออกมาโดยไม่มีการสอบถามความเห็นจากโรงพยาบาลเอกชนเลย เป็นการออกประกาศฝ่ายเดียว ทั้งนี้ตนได้นำเอาประกาศฉบับดังกล่าวเข้าไปหารือกันในที่ประชุมสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแล้ว เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ เช่น การกำหนดแบ่งผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินออกเป็นสีๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล ส่วนเรื่องค่าชดเชยสำหรับโรงพยาบาลให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด เป็นต้น ขณะที่ในประกาศยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอะไรเลย รวมไปถึงระบบส่งกลับไปรักษายังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วยหลังพ้นภาวะวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้วนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของโรงพยาบาลเอกชน
ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นทางโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้เป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว แต่อยากให้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะทำงานที่มีนพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสปสช.และอาจารย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลแล้ว แต่กลับเอาผลศึกษานั้นไปดองไว้ไม่นำมาใช้
“ประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็บังคับไป เราไม่สนใจเพราะเราทักท้วงไปตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่าให้มารับฟังความคิดเห็นจากเราหน่อย เราไม่ได้รับการตอบสนอง แต่เมื่อออกไปแล้วอะไรที่ยังไม่ชัดก็ต้องมาทำให้ชัดคือ 1. referใครคือผู้รับผิดชอบ 2. กรรมการคือใคร องค์ประกอบอะไรบ้าง การออกประกาศมันต้องทำถึงขั้นตอนการปฏิบัติด้วย ควรจะพูดคุยกันและสะท้อนออกมาเป็นแนวปฏิบัติ” นพ.เฉลิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุที่ต้องจัดทำประกาศเพราะส่วนหนึ่งมาจากปัญหาที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย นพ.เฉลิม กล่าวว่า นั่นคือประกาศของเขา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้นสังกัดเป็นใคร จะส่งต่ออย่างไรตรงนี้ผู้จัดการกองทุนทั้ง 3 กองทุนจะต้องรับผิดชอบ ต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เรื่องเงินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก่อนหน้านี้เราแนะนำให้ส่งประวัติและให้ผู้จัดการกองทุนที่รับผิดชอบโครงการ ซึ่งก็คือ สปสช. ตอบกลับว่าผู้ป่วยที่มารับการรักษานั้นอยู่ในภาวะวิกฤติฉุกเฉินระดับใด เพราะถ้าตอบผิดไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้เลย ตรงนี้ผู้คุมกฎต้องอธิบายแก่ผู้ปฏิบัติงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จี้แก้ปัญหา ถูกเรียกเก็บเงินฉุกเฉิน 3 กองทุน ชี้ผู้ป่วยไร้อำนาจต่อรอง รพ.ไม่ควรทำกำไร
- 26 views