สปสช.เผยผลงาน “กองทุนป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง” ช่วยลดสถานการณ์ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงพุ่ง เน้นค้นหาผู้ป่วยและติดตามรักษา ก่อนเกิดภาวะอาการรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต หลังพบปัญหา ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และใช้กลไก “กองทุนสุขภาพตำบล” เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมร่วมรณรงค์ “วันความดันโลหิตสูงโลก” แนะประชาชนหมั่นตรวจวัดและควบคุมความดันต่อเนื่อง เผยปีที่ผ่านมาตรวจคัดกรองประชาชน 15 ล้านราย พบเป็นโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 5 ล้านราย
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) นับเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก รายงานว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหินสูงมากถึงพันล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก 1 ใน 3 จะมีภาวะความดันโลหิตสูง และคาดการณ์ว่า ปี 2568 จะมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 1.56 พันล้านคน ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงยังเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคต่างๆ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด หัวใจวาย หลอดเลือดโป่งพอง โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย และโรคไตเรื้อรัง แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเกือบ 8 ล้านคน
นพ.วินัย กล่าว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว สปสช.ได้เห็นถึงความจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านสุขภาพเพื่อเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจัง นอกจากไม่ให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาควบคุมป้องกันความรุนแรงที่มีคุณภาพเพื่อป้องกันหรือชะลอภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา บอร์ด สปสช.จึงได้จัดให้มีงบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังขึ้น ซึ่งรวมไปถึงโรคเบาหวานด้วย เพื่อทำงานเชิงรุกทั้งการค้นหาและติดตามผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา
“งบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังนี้ เป็นงบที่เพิ่มเติมจากงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว โดยแยกเป็นกองทุนตั้งแต่ปี 2553 เป็นค่าบริการในการค้นหาผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนและป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้น ที่เรียกว่า การป้องกันโรคระดับทุติยภูมิ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงและยกระดับบริการให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ในปี 2557 นี้ ได้จัดสรรงบดำเนินการ 801.24 ล้านบาท” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.วินัย กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น สปสช.สนับสนุนให้มีการตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 30 ปี เพื่อค้นหาว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงหรือ ในปีที่ผ่านมา มีประชาชนได้รับการตรวจคัดกรองประมาณ 15 ล้านคน และพบว่ามีประมาณ 4 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งการตรวจพบเร็วจะทำให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว และยังใช้แนวทางการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพื่อไม่ให้มีอาการของโรครุนแรงจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ยากแก่การรักษาตามมา ซึ่งแต่ละปีจะครอบคลุมผู้ป่วยในระดับนี้ประมาณ 2 ล้านคน โดยใช้กลไกกองทุนสุขภาพตำบลช่วยดูแลติดตามอาการผู้ป่วยในชุมชนอีกด้วย
นพ.วินัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี ทาง “สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก” ได้มีการกำหนดให้เป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” พร้อมกำหนดคำขวัญรณงค์ด้วยว่า “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” (Know Your Blood Pressure) ซึ่งเป็นที่ทราบว่าปัญหาสำคัญของผู้ที่เป็นภาวะความดันโลหิตสูง คือส่วนใหญ่จะไม่ทราบตนเองว่าเป็นโรคนี้อยู่ เนื่องจากอาการที่ไม่ปรากฎชัดเจน ดังนั้น สปสช.จึงขอร่วมรณรงค์ให้ประชาชนตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมและอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรค อาทิ การกินอาหารรสเค็มจัด กินผักผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีภาวะเครียด และอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรังมีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาและควบคุมโรค รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้นเหล่านี้
- 16 views