บอร์ด สปสช. ถอนวาระพิจารณา “การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ” รอบที่ 3 เหตุ สธ.ยังไร้ข้อมูลนำเสนอ ด้าน “นิมิตร์” จี้ ประชุมครั้งหน้า 9 มิ.ย.ต้องมีข้อมูลชัดเจน ย้ำเข้าบอร์ดมา 3 รอบ แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนให้กรรมการพิจารณาได้ แถมตัวเลขยังไม่ตรงกัน ระบุต้องแก้ปัญหาแล้วเสร็จก่อน ปี 2558
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอให้ถอนวาระการพิจารณา “การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ” ภายหลังจากที่ได้รับฟังการนำเสนอข้อมูลจาก นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า ปัญหาการจัดระบบรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ โดยเฉพาะปัญหากลุ่มคนที่ถูกถอนสิทธิ์ออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 2 แสนคนก่อนหน้านี้ คิดว่าทางกระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีข้อมูลตัวเลขผู้มีสิทธิรักษาพยาบาล “กองทุนบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ” ของแต่ละปีที่ดำเนินการมานำเสนอ หรือข้อมูลตัวเลข 13 หลักที่เข้าสู่ระบบ เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีเอกสารอะไรเลย และ บอร์ด สปสช.จะพิจารณาเรื่องนี้โดยไม่มีข้อมูลไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อการเสียสิทธิของผู้ที่เคยมีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ จึงต้องมีความชัดเจนอย่างยิ่ง
โดยก่อนหน้านี้ในการนำเสนอข้อมูลกองทุนคนรอพิสูจน์สถานนะและสิทธิ นพ.ทรงยศ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลพิสูจน์สถานะและสิทธิ์จำนวน 500,000 คน แต่หลังจากที่ทาง สปสช.ได้ทำการถอดสิทธิผู้มีสิทธิซ้ำซ้อนจำนวน 200,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 100,000 คน ไม่ใช่ กลุ่มคนไร้สิทธิ แต่เป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาเพราะไม่รู้จะเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนใด เพราะไม่มีชื่ออยู่ในกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ และกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเหตุให้โรงพยาบาลไม่สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ ทำให้ในการเข้ารับการรักษาครั้งต่อไปจึงถูกเรียกเก็บค่าบริการได้ จากการถูกถอดสิทธิโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้น ในปี 2557 นี้ เบื้องต้นทางโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปก่อน ซึ่งในปี 2558 จะดำเนินการอย่างไร ต้องมาพูดคุยในรายละเอียดต่อไป
ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวสนับสนุนเห็นควรให้มีการถอนวาระการพิจารณา “การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ” ตามที่ นพ.วิชัยเสนอ และขอตั้งข้อสังเกตว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่มีการนำวาระนี้เข้าพิจารณาและต้องถอนออกไป ซึ่งในครั้งหน้าหากมีการนำวาระนี้กลับเข้ามาพิจารณาใหม่ 1.กระทรวงสาธารณสุขควรจะมีรายละเอียดข้อมูล เช่น ข้อมูลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ ในกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ มีผู้ใหญ่กี่คน เด็กกี่คน แต่ละปีมีจำนวนผู้ที่ได้รับการคืนสิทธิและถอนชื่อออกจากกองทุนเท่าไหร่ รวมถึงจำนวนผู้ที่ทับซ้อนสิทธิ 2.กลุ่มคนไร้สถานะที่ถูกปลดสิทธิ 200,000 คน ต้องชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร หน่วยงานใดมีสิทธิในการปลดสิทธิและตรวจสอบการทับซ้อน รวมถึง บอร์ด สปสช.ต้องรับผิดชอบมากน้อยอย่างไร ซึ่งตรงนี้ข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังไม่ตรงกัน สปสช.บอกว่าถอดสิทธิ์ 9 หมื่นคน แต่สธ.ยังบอกว่า 200,000 คน
และ 3.ตัวเลขที่ระบุว่า มีบุคคลไร้สถานะและสิทธิ ที่เป็นต่างด้าว สัญชาติจีน อากง อาม่า ที่เคยมีสิทธิและถูกถอดสิทธินั้น ต้องมีข้อมูลว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นใคร อยู่ไหน และเคยใช้สิทธิอย่างไร หน่วยบริการใด ซึ่งต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาด้วย นอกจากนี้ในระหว่างนี้จะมีการเยียวยาอย่างไรกับกลุ่มคนที่ถูกถอดสิทธิออกไป ซึ่งจากข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอในวันนี้เป็นข้อมูลที่กว้างเกินไป จึงเห็นด้วยให้มีการถอนวาระออกไปก่อน
ทั้งนี้ นายนิมิตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น มองว่าเป็นเรื่องของการบริหารการทำงานร่วมกันในการจัดส่งข้อมูลผู้ที่ได้รับคืนสิทธิและการขึ้นทะเบียนกองทุนบุคคลไร้สถานะและสิทธิ ส่งผลให้เกิดปัญหาผู้มีสิทธิซ้ำซ้อนและการถอนชื่อคืนสิทธิ จนส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนเหล่านี้ นอกจากนี้ในการบริหารกองทุน จากการให้ข้อมูลของ นพ.ทรงยศ ยังระบุว่ามีปัญหาในเรื่องการจ่ายดีอาร์จีให้กับโรงพยาบาล เมื่อเป็นเช่นนี้ มองว่า สธ.ควรมอบให้ สปสช.จัดการบริหาร เพื่อเฉลี่ยการบริหารร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่ง สธ.ไม่จำเป็นต้องโอนงบมาทั้งก้อน แต่โอนเป็นรอบเบิกจ่ายได้
ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถนำเสนอข้อมูลกองทุนบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิในการประชุมบอร์ด สปสช.ได้นั้น นายนิมิตร์ กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่มอง สธ.ในแง่ลบ แต่มองว่าก่อนที่จะถึงการประชุม สปสช.ควรที่จะยืนยันวาระการประชุมเพื่อขอข้อมูลล่วงหน้าก่อน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เชื่อว่ามีอยู่แล้ว และก่อนการประชุมบอร์ดนัดหน้าวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ตนจะถามเรื่องนี้ไปยังฝ่ายเลขานุการบอร์ด สปสช.ก่อนในการติดตาม อย่างไรก็ตามการพิจารณาปัญหาเพื่อหาทางออกบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ถูกถอดสิทธินั้น ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนปีงบประมาณ 2558 เพื่อไม่ให้เกิดภาระผูกพันไปถึงปีหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิทธิ์รักษาคนไร้สถานะกว่า 9 หมื่นคนยังเคว้ง เหตุการปรับฐานข้อมูลสธ.-สปสช.ไม่คืบ
- 4 views