อย. จ่อลดโควตาร้าน ขย.2 ระบุเภสัชกรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อร้านขายยาแผนปัจจุบัน หรือ ขย.1 ทั่วประเทศ พร้อมเร่งคลอดร่างประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์ร้านขายยาที่ดีเพิ่มเติม หวังกฎกระทรวงเดินหน้าได้จริง เผยอยู่ในช่วงรับฟังความเห็น คาดประกาศได้ปลายปีนี้ จ่อคุม ขย.1 โดยเฉพาะต้องมีเภสัชกรประจำร้าน

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การที่ อย. ออกกฎกระทรวงเรื่อง การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 25 มิ.ย. 2557 นั้น ก็เพื่อให้ร้านขายยามีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติที่ดี เช่น เภสัชกรจะต้องอยู่ประจำร้าน เภสัชกรต้องสวมชุดปฏิบัติการ ร้านขายยาต้องมีการจัดแบ่งโซนยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษที่ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรออกจากยาปกติทั่วไป มีการให้คำแนะนำก่อนการขาย การควบคุมคุณภาพยาและการจัดเก็บ รวมไปถึงการบริการทางเภสัชกรรม เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มบังคับร้านขายยาที่เปิดใหม่ทันที แต่สำหรับร้านขายยาเก่าจะมีเวลาในการปรับปรุง 8 ปี
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงจะดำเนินการได้จริงก็ต่อเมื่อมีการออกประกาศกระทรวงเพิ่มเติม เนื่องจากกฎกระทรวงนี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดวิธีในการปฏิบัติไว้ ซึ่งขณะนี้มีการร่างประกาศกระทรวงเรื่องการกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2557 แล้ว ซึ่งประกาศฉบับนี้จะเน้นกับร้านขายยาประเภท ขย.1 คาดว่าจะประกาศได้ภายในสิ้นปี 2557 หรือต้นปี 2558 ซึ่งหากประกาศฉบับนี้ไม่ทันช่วงต่ออายุร้านขายยา ร้านขายยาเก่าก็จะสามารถต่ออายุได้ตามปกติ โดยไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ ทั้งนี้ แม้ร้านขายยาเก่าจะมีเวลา 8 ปี ในการปรับปรุงร้านให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ร่างประกาศนี้อาจออกมาบังคับให้ร้านเก่าดำเนินการเลยก็ได้ หรืออาจจะกำหนดให้ไม่เกิน 8 ปีเช่นเดิม ขึ้นอยู่กับการรับฟังความเห็น ซึ่งขณะนัี้กำลังดำเนินการอยู่ว่าจะให้ออกมาบังคับเลยหรือไม่ อย่างไร
       
“ร้ายยา ขย.1 เป็นร้านใหญ่ที่เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วสามารถขายยาได้ตั้งแต่ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป ยาบรรจุเสร็จที่ไม่อันตรายและไม่ใช่ควบคุมพิเศษ ไปจนถึงยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งกว่าร้อยละ 50 ของร้านล้วนเป็นยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมให้เภสัชกรอยู่ประจำร้าน และมีการจัดโซนแยกต่างหากจากยาทั่วไป เมื่อเภสัชกรไม่อยู่ร้านก็ต้องปิดล็อกการขายส่วนยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษไปเลย หากจะขายก็ให้มีการขายได้เฉพาะส่วนยาสามัญทั่วไปเท่านั้น” รองเลขาธิการ อย. กล่าวและว่า นอกจากนี้ กฎกระทรวงยังให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศพื้นที่ไหนก็ได้เป็นพื้นที่นำร่องให้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านตลอดเวลาที่มีการขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งกำลังมีการพิจารณาอยู่ว่าพื้นที่ไหนมีความพร้อมที่สุด
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับร้ายขายยาประเภท ขย.2 นั้น ผู้ปฏิบัติงานในร้านไม่จำเป็นต้องเป็นเภสัชกร แต่เป็นเพียงพยาบาล หรือผู้ที่ผ่านการอบรมจาก สธ.ก็สามารถเป็นผู้ขายยาได้ แต่ยาที่ขายในร้านประเภทนี้จะเป็นกลุ่มยาสามัญทั่วไป และยาบรรจุเสร็จที่ไม่อันตรายและไม่ควบคุมพิเศษ คือไม่ใช่พวกยากลุ่มปฏิชีวนะ ยาหัวใจและหลอดเลือด ยาทางเดินอาหาร ยาทางเดินปัสสาวะ หรือพวกสเตียรอยด์ ที่ต้องจ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้น โดยเกณฑ์การปฏิบัติของร้าน ขย.2 จะมีการร่างประกาศกระทรวงแยกต่างหากออกมาอีกฉบับหนึ่งด้วย และจากนี้จะไม่มีการเพิ่มโควตาร้านขายยา ขย.2 อีก เพราะจำนวนเภสัชกรเพิ่มขึ้นจากอดีตมาก น่าจะเพียงพอต่อร้านขายยา ขย.1 ที่มีทั่วประเทศแล้ว แม้จะมีร้านขายยา ขย.2 ปิดกิจการก็จะไม่ให้มีการเปิดร้านขายยา ขย.2 เพิ่มอีก และในอนาคตเห็นว่าควรเปิดร้านขายยา ขย.1 เพิ่มเติมและลดประเภท ขย.2 ลงเรื่อยๆ
       
อนึ่ง ร้านขายยาแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. ร้านขายยาแผนปัจจุบัน หรือ ขย.1 ปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 12,000 ร้าน อยู่ใน กทม.ประมาณ 4,000 กว่าร้าน 2. ร้านขายยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ หรือ ขย.2 มีประมาณ 3,800 ร้าน อยู่ใน กทม. ประมาณ 700 ร้าน 3. ร้านขายยาแผนปัจจุบันยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษสำหรับสัตว์มีประมาณ 750 ร้าน อยู่ใน กทม. ไม่ถึง 100 ร้าน และ 4. ร้านขายยาแผนปัจจุบันชนิดร้านขายส่ง ซึ่งปัจจุบัน อย. ไม่เคยออกใบอนุญาตประเภทนี้