ฐานเศรษฐกิจ -สาธารณสุขเมียนมาร์โอด คนรวยในประเทศแห่ใช้บริการโรงพยาบาลประเทศเพื่อนบ้าน เผย ไทย สิงคโปร์ และอินเดีย รับทรัพย์ค่ารักษาพยาบาลกว่า 6,000 ล้านต่อปี จี้รัฐบาลเร่งดึงต่างชาติลงทุนสร้างโรงพยาบาล ระบุบริษัทไทย สิงคโปร์ มาเลเซียเตรียมยึดหัวหาด
หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ อีเลฟเว่น รายงานว่าคนเมียนมาร์ที่มีฐานะได้แห่ไปใช้บริการทางการแพทย์นอกประเทศมีมูลค่าปีละกว่า 200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,000 ล้านบาท) และแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากความขาดแคลนบริการทาง การแพทย์และเครื่องมือทันสมัยในประเทศ
รองประธานาธิบดีเมียนมาร์ Mr.Sai Mauk Kham กล่าวในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่เมืองหลวงเนปิดอว์ ว่า ประเทศต้องเสียรายได้เงินตราต่างประเทศกว่า 200 ล้านดอลลาร์ทุกปี เนื่องจากคนเมียนมาร์และครอบครัวเดินทางไปประเทศไทย สิงคโปร์ และอินเดียเพื่อใช้บริการทางการแพทย์
น.พ.Hpone Myint อดีตรองอธิบดีกรมการวางแผนสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในที่ประชุมว่า สิ่งที่เมียนมาร์ต้องการคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่จากต่างชาติ และความร่วมมือกับผู้เชี่ยว ชาญในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพและสวัสดิการสาธารณสุขในเมียนมาร์ให้ดียิ่งขึ้น
น.พ.Hpone Myint กล่าวว่าขณะนี้โรงพยาบาลของรัฐ 15 แห่งทั่วประเทศขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญและโครง สร้างพื้นฐานอย่างหนัก
ถ้อยแถลงของ น.พ.Hpone Myint สอดคล้องกับรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าขนาดโรงพยาบาลย่างกุ้งเจเนอรัลฮอสปิตัล ที่เคยทันสมัยที่สุดในเมียนมาร์และเอเชียอาคเนย์ ได้กลายเป็นอาคารเก่าที่คนไข้ต้องนอนตามทางเดินเพื่อรอการรักษา คนไข้ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต้องจองคิวเป็นปี แค่สแกนเพื่อวินิจฉัยโรคยังต้องรอคิวนานจนคนไข้ที่มีเงิน ต้องบินไปใช้บริการเครื่องสแกนที่ประ เทศไทยและสิงคโปร์แทน
รอยเตอร์ รายงานว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้พยายามเพิ่มงบประมาณทางการแพทย์จาก 1% ของงบรวมเป็น 3% เริ่มในปีงบประมาณ 2555
เมียนมาร์ อีเลฟเว่น ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมี 8 กรมและจากการสำรวจพบว่างบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นเงินเดือน โดยถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มงบประมาณแล้วแต่สัดส่วนยังต่ำกว่า 2% ของจีดีพี ทำให้ไม่มีงบประมาณสำหรับการสร้างบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะนายแพทย์ และไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ ทำให้บริการทางการแพทย์ของรัฐที่มีอยู่เมื่อเทียบกับประชาชน 60 ล้านคนของเมียนมาร์ มีปัญหาความขาดแคลนอย่างหนัก อย่างไรก็ดีมีรายงานจากโรงพยาบาลของรัฐบางแห่งที่ระบุว่าการเพิ่มงบประมาณทางด้านสาธารณสุขของรัฐช่วยให้โรงพยาบาลมีงบประมาณซื้อยาเพิ่มขึ้น ซึ่งดีกว่าเมื่อก่อนที่คนไข้ต้องควักจ่ายเงินเองเป็นค่ารักษาพยาบาล กว่า 80% ของค่ารักษาทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในอาเซียน
น.พ.Si Thu จากแพทยสมาคมแห่งเมียนมาร์ กล่าวว่าโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนต้องพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน โดยโรงพยาบาลเอกชนต้องสร้างบุคลากรของตนเองไม่ใช่มาใช้นายแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐที่ขาดแคลนอยู่แล้ว
รอยเตอร์ รายงานเมื่อปลายปี 2556 ว่าหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ ได้ร่างระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนสร้างโรงพยาบาลของเอกชนของต่างชาติทั้งที่เป็นการลงทุนทั้งหมดหรือร่วมทุนแล้ว มีเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนจากประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้ลงพื้นที่เพื่อลงทุนในเมียน มาร์แล้ว บริษัทเอกชนจากประเทศไทยที่ประกาศตัวแล้วคือ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการฯ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งแถลงข่าวว่า ประเทศเมียนมาร์ เป็นเป้าหมายอันดับ 1 ในการลงทุนต่างประเทศ ส่วนของมาเลเซียคือบริษัท
KPJ Healthcare Bhd ซึ่งประกาศว่าได้ร่วมในการบริหารโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้วหนึ่งโรงพยาบาลในเมียนมาร์และกำลังจะขยายตัว บริษัททางด้านดูแลสุขภาพจากสิงคโปร์คือบริษัท AsiaMedic ซึ่งประกาศว่าได้ร่วมลงทุนกับบริษัทในเมียนมาร์เพื่อเปิดศูนย์บริการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อวินิจฉัยโรค ในโรงพยาบาล 2 แห่ง ที่อยู่ทางเหนือของมัณฑะเลย์
"ชาวเมียนมาร์เองก็มองหาโอกาสที่จะได้ร่วมทำ ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยอยู่แล้วผมขอชวนเพื่อนๆไปลองคุยกับพ่อค้าเมียนมาร์ดู"Mr.U Win Aung
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 พ.ค. 2557
- 204 views