บอร์ด สปสช. ยึดหลักการแยก ผู้ให้บริการและผู้จัดหาบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพออกจากกันตามเจตนารมณ์ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติยกเลิกประกาศปี 2546 ที่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นสปสช.สาขาจังหวัด และยกเลิกเงินบัญชี 6 ตั้งแต่วันที่ 1 ตค. 2557 เป็นต้นไป หวังให้เกิดความชัดเจนในการบริหารและจัดบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ลดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนตามที่ผู้บริหารสาธารณสุขเรียกร้อง มอบให้ สปสช เตรียมความพร้อม และเพิ่มศักยภาพของสาขาเขตเพื่อรองรับภารกิจเพิ่มเติมไม่ให้กระทบต่อระบบบริการและประชาชนในพื้นที่
วันที่ 7 พ.ค. 2557 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต - นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันนี้ ซึ่งมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการพิจารณา “บทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาจังหวัด” (สปสช.สาขาจังหวัด) เพื่อให้เป็นไปตามหลักการในการแยกผู้ซื้อและผู้ขายบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพออกจากกัน ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพชาติ พ.ศ. 2545 และเป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เสนอให้ทบทวนการมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำาหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนที่กฏหมายบัญญัติไว้ นอกจากนี้ยังเป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอให้ยกเลิกเงินที่จัดสรรผ่านบัญชี6 ของ สสจ. ในฐานะเป็น สปสช.สาขาจังหวัด
เลขาธิการ สปสช.เปิดเผยต่อว่า ที่มาของการมอบให้ สสจ เป็น สปสช.สาขาจังหวัด ตั้งแต่เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่ๆ นั้น เป็นไปตามมาตรา 25 วรรค 2 และ 3 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้บอร์ด สปสช. มีอำนาจมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนทำหน้าที่สำนักงานสาขาของ สปสช. ประกอบกับ ในวาระแรกเริ่ม มีภารกิจต้องขึ้นทะเบียนประชาชนให้เข้าถึงสิทธิและประสาน หน่วยบริการในพื้นที่โดยเร่งด่วน แต่เวลานั้น สปสช. ยังไม่มีสาขาในพื้นที่ และเห็นว่า สสจ. เป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่มีความเข้าใจระบบสุขภาพอย่างดี จึงได้มอบหมายหน้าที่ให้เป็นสาขาจังหวัด และกำหนดว่าในอนาคตหาก สปสช. มีสาขาในพื้นที่แล้ว หรือมีหน่วยงานอื่นที่เหมาะสมกว่า ก็ให้สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามหลักการแยกผู้ซื้อออกจากผู้ให้บริการสาธารณสุขตามที่กฎหมายกำหนดไว้
“เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ระบบหลักประกันสุขภาพมีความพร้อมมากขึ้น กลไก สปสช.สาขาเขต และหน่วยบริการในพื้นที่ มีความเข้าใจการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น ทำให้ภารกิจบางอย่างของ สปสช.สาขาจังหวัดลดลง ประกอบกับมีข้อแนะนำ ทักท้วงเกิดขึ้นทั้งจาก สตง. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งนักวิชาการ บอร์ด สปสช. ประชุมเมื่อวันที่ 7 พค.นี้ จึงมีมติให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง ที่ให้ สสจ เป็นสำนักงานสาขาจังหวัดของ สปสช.และยกเลิกบัญชี 6ของ สปสช.สาขาจังหวัดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 รวมทั้งมอบหมายให้ สปสช เตรียมความพร้อม และเพิ่มศักยภาพของ สปสช.สาขาเขตเพื่อรองรับภารกิจเพิ่มเติมและพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกับ สสจ.เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบบริการและประชาชนในพื้นที่” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงประเด็นดังกล่าง ทาง Facebook นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ P.Sintavanarong โดยระบุว่า ที่ประชุมบอร์ดสปสช.วันนี้เห็นชอบกับข้อเสนอเลิกสสจ.เป็นสาขาจังหวัดของสปสช.ตามข้อเสนอของสตง.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57 เป็นต้นไป โดยสรุปคือ สปสช.จะดูแลเรื่องข้อมูลต่างๆ และจะโอนเงินเข้าไปที่หน่วยบริการโดยตรงไม่ผ่าน สสจ. เพื่อ สสจ.ก็จะได้มีเวลาไปทุ่มเทกับการดูแลประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ศึกษารูปแบบอื่นของการทำหน้าที่สปสช.จังหวัด เช่น ให้องค์กรบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่หรือมีการจ้างภาคเอกชนมาทำหน้าที่ด้วย
"วันนี้ผมไปประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และก็เช่นเคยครับ ถ้ามีหัวข้อเรื่องที่น่าสนใจผมก็จะนำมาเล่าให้พวกเราฟังกัน วันนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาตร์ที่ให้มีการแบ่งแยกบทบาทระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่รับผิดชอบเรื่องการเงิน และกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบในด้านการจัดบริการสาธารณสุข และให้ สปสช.จัดให้สำนักงานเขตเข้ามารับงานที่เคยให้สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ทำหน้าที่เป็น สปสช.จังหวัด โดยกำหนดระยะเวลาไว้ให้เริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2557 ซึ่งท่านเลขาธิการ สปสช.ได้ยืนยันว่าปัจจุบันงานข้อมูลต่างๆ ทำโดยระบบอิเลคโทรนิคส์เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้วจึงไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด อีกทั้งอาจจะประหยัดเงินค่าบริหารจัดการที่เคยมีอีกด้วย
เรื่องนี้เป็นวิวัฒนาการจากเดิมตอนตั้งต้นหลักประกันสุขภาพได้ให้ สสจ.ทำหน้าที่ก่อนเพื่อให้ สปสช.ที่พึ่งเริ่มต้นได้มีโอกาสพัฒนาสำนักงานก่อน และเพื่อให้งานของ สปสช.มีส่วนเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อความต่อเนื่อง ต่อมาทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ได้มีข้อเสนอแนะให้แบ่งบทบาทของทั้งสององค์กรให้ชัดเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งเนื่องจากผลประโยชน์ (conflict of interest) เพราะมีเรื่องที่ สตง.ได้ทักท้วงการใช้เงินของ สสจ.ที่ได้รับจาก สปสช.ที่โอนให้ในฐานะ สปสช.จังหวัดว่ามีการใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงบประมาณ เรื่องการแบ่งบทบาทของสองหน่วยงานและการตัดบทบาท สสจ.ในส่วนการดูแลเงินเพื่อให้ได้ไปทำหน้าที่การดูแลการบริการสุขภาพให้ประชาชนได้มากขึ้นเป็นเรื่องที่ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอเข้ามา และทางคณะกรรมการฯ ก็เห็นชอบในเรื่องนี้เพราะทุกคนเห็นด้วยกับการพัฒนารูปแบบการทำงานที่มุ่งหวังเพื่อประโยชน์ของประชาชนครับ
สรุปคือต่อไป สปสช.จะดูแลเรื่องข้อมูลต่างๆ และจะโอนเงินเข้าไปที่หน่วยบริการโดยตรงไม่ผ่าน สสจ. เพื่อ สสจ.ก็จะได้มีเวลาไปทุ่มเทกับการดูแลประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ศึกษารูปแบบอื่นของการทำหน้าที่สปสช.จังหวัด เช่น ให้องค์กรบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่หรือมีการจ้างภาคเอกชนมาทำหน้าที่ครับ
ผมหวังว่าต่อไปเราคงได้เห็นระบบทำงานด้านสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อประชาชนครับ”
รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 เมย. ที่ผ่านมา นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ 120/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ของบอร์ด สปสช. ซึ่งมีสาระสำคัญคือแยกบทบาทของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลหน่วยบริการในพื้นที่ ออกจากการเป็นประธานอนุกรรมการทุกคณะของ สปสช. ตามหลักการแยกให้บริการออกจากผู้รับบริการสาธารณสุข ทำให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นประธานอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ (บอร์ดเล็ก) และประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ของ สปสช. อีกต่อไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบบริหารหลักประกันสุขภาพในส่วนกลาง ก่อนที่บอร์ด สปสช.จะมีมติยกเลิก สสจ.ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นสาขาจังหวัดของ สปสช.
ข่าวที่เกิยวข้อง
- 24 views