นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ที่จะมีความสามารถในการผลิตยากลุ่ม "ไบโอฟาร์มา" หรือ "ชีววัตถุ" ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการผลิตยา เพื่อใช้รักษาโรคร้ายแรง อย่าง โรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ตนเอง และโรคเรื้อรังบางชนิด

หลังจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดย บริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด และ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกันลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ หรือ "เอ็มโอยู" กับ "ซีเอ็มไอ" (CMI : Center of Immunology) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยพัฒนาและผลิตยาไบโอฟาร์มาของประเทศคิวบา ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เพื่อผลิตยารักษาโรงมะเร็งในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงยากลุ่มนี้มากขึ้น

ดร.เสนาะ อูนากูล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ยอมรับว่า สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมาก รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการซื้อยามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง หากผลิตยาได้เองในประเทศจะสามารถตรึงราคายาได้

"ตั้งแต่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า  10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค มีสัดส่วนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับงบประมาณของทั้งระบบ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ไม่สามารถเข้าถึงยาชีววัตถุที่มีราคาสูง ถึงแม้ว่ายาดังกล่าวจะเป็นยา มีประสิทธิภาพสูง"

ดร.เสนาะ ยกตัวอย่างยาอีโป หรือ ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง ตั้งแต่ผลิตได้ในประเทศไทย ช่วยประหยัดเงินการคลังของรัฐบาล ที่ต้องใช้ซื้อยาเข้าสู่ระบบ และคนส่วนใหญ่ที่ยังเข้าไม่ถึงยา ก็ช่วยดึงให้ราคายามาอยู่ในระดับที่คนในประเทศใช้ได้

ดร.อากุสติน ลาเฮ ดาวิลา ผู้อำนวยการใหญ่ ซีไอเอ็ม เสริมว่า "ยาอีโป" ก่อนเริ่มต้นผลิตที่คิวบา ราคาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อขวด อีก 5 ปีต่อมาเหลือ 5 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้เหลือแค่ 2 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงถึง 25 เท่า โดยคิวบาส่งออก "ยา อีโป" 40 ล้านโดสต่อปี เพื่อเข้าสู่ระบบเบิกจ่ายของรัฐบาล อย่าง บราซิล เป็นต้น

"แม้ว่าไทยและคิวบาจะตั้งอยู่กันคนละมุมโลก แต่ต่างมีความเข้าใจพื้นฐานที่ตรงกัน ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วน ด้วยการสร้างหลักประกันให้แก่ผู้ป่วยทุกคน ต้องเข้าถึงยาไบโอฟาร์มาที่จำเป็นต่อการรักษาได้อย่างทั่วถึง"

ดร.อากุสติน ลาเฮ ดาวิลา ยังอธิบายถึงเทคโนโลยีในการผลิตยาไบโอฟาร์มาว่า เป็นเทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรม นำสารพันธุกรรม (ยีน) ใส่เข้าไปในเซลล์สิ่งมีชีวิต เพื่อให้สามารถผลิตโปรตีน แล้วนำไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นยารักษาโรค ทั้งนี้ ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยยีนกว่า 3 หมื่นตัว บรรดายีนเหล่านี้มีสารในกลุ่ม "โมโนโคล นอล แอนติบอดี" ที่มีความหลากหลายมากกว่า 1 ล้านชนิด หากนำสารดังกล่าวมาพัฒนาเพื่อเป็นยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค เปรียบได้กับการพบ คลังสรรพาวุธด้านยา ในการรักษาโรค ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง แต่มีผลข้างเคียงต่ำ

ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เสริมว่า กระบวนการผลิตยาไบโอฟาร์มานั้น แตกต่างจากกระบวนการผลิตยาเคมี หากเปรียบเทียบง่ายๆ ยาที่ผลิตจากกระบวนการเคมี เหมือนการสร้าง "รถจักรยาน"แต่การผลิตยาไบโอฟาร์มาเหมือนการสร้าง "เครื่องบิน" ซึ่งมีความซับซ้อนกว่ามาก ในช่วงแรกบริษัทผลิตยาไบโอฟาร์มาอยู่ 2 ตัวแรก คือ ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง และยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว แต่ปัจจุบันกำลังผลิตยาตัวที่ 3 และ 4 เป็นยาในกลุ่มโมโน โคนอล แอนติบอดี รักษาโรคร้ายแรงอย่างเช่น โรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือโรคพุ่มพวง และโรค รูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของวงการแพทย์อย่างมาก

"การผลิตยาในบ้านเรา แค่นำตัวยาสำคัญ มาตอกเม็ดละลายน้ำใส่ขวด แต่เราทำตัวยา สำคัญ ซึ่งตัวยาสำคัญ ทั้งกระบวนการทางเคมี และกระบวนการไบโอฟาร์มา ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่ไทยจะผลิตตัวยาสำคัญได้ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้เซลล์สัตว์ผลิตยากลุ่มโมโนโคลนอนฯ อย่างคอร์สในการรักษามะเร็งเต้านม ด้วยยากลุ่มนี้ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.3-1.5 ล้านบาท แค่ตัวยาอย่างเดียว ทำให้คนเข้าถึงน้อยมาก แต่เป้าหมายของเราต้องให้เข้าถึงยาได้มากที่สุด ตอนนี้กำลังอยู่ในการศึกษาทางคลินิก โดยตัวแรกจะผลิตยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง..." ดร.ทรงพล กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยอมรับว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาไบโอฟาร์มา จะให้ผลดีกว่าการรักษาด้วยวิธีคีโม ซึ่งเป็นวิธีการรักษาด้วยเคมี เพราะตัวยานอกจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังทำลายเซลล์ที่ดีด้วย ส่วนยาไบโอฟาร์มา เป็นสารโปรตีนที่สร้างขึ้น จะเข้าไปทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น โดยใช้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 3 พฤษภาคม 2557