'ภูเก็ต' เตรียมรับมือเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 ยันยังไม่จำเป็นต้องติดเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฯ พร้อมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงกรณีพบชาวมาเลเซียเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2012 หลังเดินทางไปเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับเป็นรายแรกของเอเชีย โดยข้อมูลองค์การอนามัยโลกยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2012 สะสมทั้งหมด 254 ราย เสียชีวิต 93 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 36.61 จาก 13 ประเทศ สำหรับประเทศไทยยังไม่พบรายงานผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม สสจ.ภูเก็ต ได้มีมาตรการเน้นเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากตะวันออกกลาง รวมถึงเฝ้าระวังกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจติดเชื้อจากผู้ป่วย เพื่อตรวจจับสัญญาณการระบาดได้ทันท่วงที หากพบผู้ป่วยอาการดังกล่าวต้องรีบรายงานและต้องเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งได้ซักซ้อมแผนสร้างความรู้ ความเข้าใจเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลและทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทุกระดับ
ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต แต่ขอให้ผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น หากอาการไม่ดีขึ้นเกิน 2 วันให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง
ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยนั้น มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาปี 57 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ร้อยละ 96 ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ H1N1 (2009) ซึ่งโรคนี้จะแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สสจ.ภูเก็ตจึงได้เร่งป้องกัน เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเน้น 3 มาตรการ คือ การเฝ้าระวังการป้องกันโรคและการดูแลรักษาผู้ป่วย เน้นย้ำประชาชน “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไอจามปิดปาก ใช้หน้ากากอนามัย ป่วยหยุดงาน หยุดเรียน” ทั้งนี้หากป่วยเป็นไข้หวัดและอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วันต้องรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
ส่วนการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปี 57 ให้บริการฟรีในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน-2 ขวบ หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือน ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง 9 โรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนอ้วนน้ำหนักเกิน 100 กก.และผู้พิการทางสมอง โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 ก.ย.57 ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถแจ้งชื่อและลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขภาครัฐในพื้นที่ทุกแห่ง
- 6 views