ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพหลักๆ อยู่ 3 กองทุน คือกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ซึ่งพัฒนามาตลอดจนสามารถดูแลสุขภาพคนไทยกว่า 65 ล้านคนได้อย่างครอบคลุม แต่ประเด็นปัญหาใหญ่ที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนจนถึงตอนนี้คือเรื่องความเหลื่อมล้ำของบริการสุขภาพภายใต้ระบบประกันสุขภาพที่แตกต่างกันของ 3 กองทุน

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพที่แตกต่างกันคือ หลายคนคิดว่าเงินเดือนน้อย ควรได้รับสิทธิบริการที่สูงกว่าเพื่อเป็นการชดเชย หรือแนวคิดการที่ต้องได้รับสิทธิบริการที่สูงกว่า เพราะว่าตนเองมีส่วนในการร่วมจ่ายมากกว่าคนอื่น แต่เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีความเท่าเทียมกัน โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือปรับทัศนคติของทุกคนให้นึกถึงว่าทุกคนในประเทศนี้มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเจ็บป่วยในลักษณะเดียวกันย่อมต้องได้รับบริการที่มีมาตรฐานเดียวกัน ความเท่าเทียมไม่ใช่เศรษฐานะหรือสถานภาพทางสังคม หรือมองว่าการรักษาพยาบาลควรจะแตกต่างกันตามสิทธิที่มี

“ความจำเป็นทางสุขภาพของบุคคลทุกคน ทุกสิทธิ์ ย่อมต้องมีความเท่าเทียมกัน การให้บริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยไม่เกี่ยวกับความจน ความรวย ไม่เกี่ยวกับการต้องร่วมจ่ายหรือการจ่ายเงินเอง ไม่เกี่ยวกับเพราะเป็นสวัสดิการที่ดีเพราะรับเงินเดือนน้อย นั่นคือคนในทุกระบบเมื่อมีปัญหาสุขภาพ ย่อมสมควรได้รับบริการที่เหมือนกัน มาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องกับความเจ็บป่วยที่เป็น” รศ. ดร. จิราพร กล่าว

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของอนุกรรมการบริการสุขภาพ ทำให้เห็นสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำใน 6 ประเด็น ที่อยากให้แก้ไขโดยด่วนเพื่อปรับระบบบริการสุขภาพสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง

ประเด็นแรกคือความเท่าเทียมของการจ่ายเงินเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบร่วมกับนายจ้างและรัฐเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการสุขภาพให้กับผู้ประกันตนเอง ในขณะที่ข้าราชการและบัตรทองรัฐรับผิดชอบโดยนำเงินภาษีมาจ่ายให้ ดังนั้นจึงอยากให้มีการยกเลิกการจ่ายเงินสมทบในส่วนของการรักษาพยาบาล และให้ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเลิกการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบประกันสังคมนั้นอาจไม่ยกเลิกการเก็บเงินสมทบส่วนบริการรักษาพยาบาล แต่นำเงินไปใช้กับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน เช่น เป็นเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นต้น

ประเด็นที่สองเรื่องความเท่าเทียมของชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพ  ทั้งในเรื่องของหัตถการและยารักษาโรคซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก เช่น การจำกัดค่าบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนเพียงปีละ 800 บาท เหมาจ่ายค่าทำคลอด ทำให้ผู้ประกันตนบางรายต้องจ่ายเพิ่มกรณีที่ต้องผ่าตัดคลอดหรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ รวมไปถึงไม่มีสิทธิในรักษาบำบัดการใช้สารเสพติดหรือภาวะติดแอลกอฮอล์ หรืออย่างความเหลื่อมล้ำในการได้รับยา ซึ่งจะเห็นว่าข้าราชการได้รับยานอก หรือยาต้นแบบที่มีราคาสูงเนื่องจากรัฐเป็นจ่ายให้โดยไม่กำหนดเพดาน ส่วนอีก 2 กลุ่มนั้นมีสิทธิได้รับแค่ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตรงนี้อยากเห็นการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ที่ไม่แตกต่าง อาจจะไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง แต่ต้องรับประกันว่าเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจจะเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละกองทุนใช้ระเบียบ ใช้กฎหมายกันคนละฉบับ ดังนั้นอาจจะต้องตั้งเป็นคณะกรรมการระดับชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านบริการสุขภาพร่วมกันของ 3 กองทุน เช่นเดียวกับโครงการรักษาพยาบาลในกรณีอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ประเด็นที่สาม ความเท่าเทียมของการเข้าถึงระบบบริการ มาตรฐานบริการ และการควบคุมคุณภาพของบริการในระบบประกันสุขภาพต่างๆ เช่นการส่งต่อที่ต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยบริการก่อน การกำหนดช่วงเวลาการรับบริการว่าหลังเวลาเท่านั้นเท่านี้ไม่สามารถใช้บริการได้ ถ้านอกเหนือจากนี้ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ในขณะที่กองทุนข้าราชการสามารถไปรักษาได้ทุกที่ ลักษณะอย่างนี้ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันในเรื่องของการมีกลไกการติดตามและควบคุมคุณภาพ และการจัดการปัญหาข้อร้องเรียน ให้บริการที่ได้มาตรฐานของแต่ละหน่วยบริการโดยเฉพาะกรณีต้องมีการส่งต่อต้องรวดเร็วนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญที่อยากให้ดำเนินการร่วมกันทั้ง 3 กองทุน เพื่อความประหยัดและมีประสิทธิภาพ จากที่ปัจจุบันเป็นแบบต่างคนต่างทำ

ประเด็นที่สี่ เรื่องระบบการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการ ซึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพและระบบประกันสังคม มีระบบการจ่ายในแบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) ซึ่งแตกต่างกับระบบข้าราชการที่จ่ายตามการให้บริการที่ (Fee for service) ตรงนี้ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่แตกต่างกัน โดยมักพบว่ามีการให้บริการในกลุ่มข้าราชการมากกว่ากลุ่มประชาชนสิทธิอื่น อีกทั้งยังส่งผลให้บางโรงพยาบาลเลือกที่จะให้บริการกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีสิทธิประโยชน์มากกว่า จึงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับระบบการจ่ายเงินและอัตราการจ่ายให้เหมือนกัน โดยเน้นที่การจ่ายที่สอดคล้องกับต้นทุนบริการจริง มีระบบป้องกันการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

ประเด็นที่ห้า ระบบการชดเชยและเยียวยาสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสุขภาพที่เหมือนกัน เพราะปัจจุบันพบว่ามีเพียงกลุ่มบัตรทองเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุข เพื่อให้อีก 2 กลุ่มได้รับสิทธิที่ไม่ต่างกัน เห็นว่าจำเป็นต้องเร่งผลักดัน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ขณะนี้รอการพิจารณาในสภา

และสุดท้ายประเด็นที่หก คืออยากเห็นความเป็นเอกภาพของกลไกการบริหารจัดการกองทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพที่ต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9, 10 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากปัจจุบันอำนาจการบริหารกองทุนทั้ง 3 กองทุนอยู่ภายใต้ผู้รับผิดชอบคนละคนกัน มีองค์ประกอบและที่มาของกรรมการหรือผู้รับผิดชอบก็แตกต่างกัน มีจุดแข็ง จุดอ่อนที่แตกต่างกัน การกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน คณะกรรมการชุดใดมีภาคส่วนของผู้มีสิทธิมากย่อมมีการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อผู้มีสิทธิมากกว่า ความเป็นเอกภาพจึงไม่มี