สธ. เผยแรงงานไทยป่วยเป็นโรคเรื้อรังเกือบ 4 ล้านคน หวั่นกระทบครอบครัวขาดเสาหลักหารายได้เลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุ เร่งพัฒนาสถานประกอบการ-วิสาหกิจชุมชน ให้ปลอดโรค ปลอดภัย ตั้งเป้าเพิ่มในปี 2557 จำนวน 800 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งตั้งคลินิกตรวจรักษาโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด และจะขยายลงโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ในอนาคต
วันนี้ (1 พฤษภาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีในมาตรการดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ที่สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ ให้มีสุขภาพดี สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ เพื่อเป็นที่พึ่งพิงของคนในครอบครัว ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 48 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2553 เป็น 60 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในอีก 15 ปีข้างหน้า และแนวโน้มประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากประชากรวัยแรงงานเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพไม่สามารถทำงานได้ จะเกิดผลกระทบต่อครอบครัว ขาดเสาหลักหารายได้ลี้ยงดู ตกอยู่ในสถานะรอรับการสงเคราะห์จากสังคม เป็นปัญหาระยะยาวของประเทศ
ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 ไทยมีประชากรที่มีงานทำประมาณ 38 ล้านคน โดยอยู่ในภาคเกษตรกรรม 13 ล้านคน ที่เหลือเกือบ 25 ล้านคน อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่นๆ เช่นการผลิตต่างๆ การก่อสร้าง การขาย การขนส่ง เป็นต้น โดยมีสถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 2 ล้านแห่ง ผลสำรวจภาวะสุขภาพของแรงงานในภาคเกษตรกรรมในปี 2554-2556 พบปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดประมาณร้อยละ 30 ส่วนผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลล่าสุดในปี 2554พบกว่าร้อยละ 10 ของแรงงานทั้งหมด หรือเกือบ 4 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มากที่สุดคือโรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี 2555 มีผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต 717 ราย และพิการหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน 1,827 ราย จึงต้องเร่งให้การดูแล เน้นหนักที่การป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในสถานประกอบการ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการแก้ไขและป้องกัน
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้จัดทำโครงการ วัยทำงานปลอดโรคปลอดภัย กายใจเป็นสุข โดยในภาคเกษตร ได้ขยายคลินิกดูแลสุขภาพเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเร่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ได้พัฒนามาตรฐานสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของวัยแรงงาน ที่ต้องอยู่วันละ 8-9 ชั่วโมง ให้เป็นสถานที่ปลอดโรคปลอดภัย โดยในปี 2556 ดำเนินการแล้ว 228 แห่ง ส่วนในปี 2557 จะดำเนินการเพิ่มอีก 800 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายเพิ่มอีกปีละ 10 แห่งต่อจังหวัด ประเด็นที่เน้นหนักประกอบด้วย ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ทำงาน และการใช้อุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ลดความเครียด
ในส่วนของการดูแลรักษาแรงงานที่เจ็บป่วย ได้จัดตั้งคลินิกโรคจากการประกอบอาชีพ ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด มีแพทย์เฉพาะทางตรวจรักษาโดยเฉพาะ และจะขยายลงโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ต่อไป โดยในปีนี้ จะอบรมพยาบาลอาชีวเวชศาสตร์ จำนวน 50 คน ในเดือนมิถุนายน 2557 เพื่อประจำการในคลินิก
- 19 views