แนะเฝ้าระวังหลังระบาดใน 13 ประเทศ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เตรียมการเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งคุมทุกจังหวัดเฝ้าระวัง "โคโรน่าไวรัส 2012" อย่างใกล้ชิด ระดับเท่าการควบคุมโรคซาร์ส หลังพบการระบาดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยองค์การอนามัยโลกรายงาน เมื่อวันที่ 17 เม.ย.57 พบผู้ป่วยยืนยัน 243 ราย เสียชีวิต 93 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยตาย 38.27%
น.พ.พลากร ศรีนิธิวัฒน์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เผยว่า ไวรัส โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมิร์สคอฟ (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) เป็นไวรัสสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่ม โคโรน่าไวรัส เรียกว่า novel coronavirus : nCoV เพิ่งค้นพบในปี พ.ศ.2555 แม้ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย แต่พบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องใน 13 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเกิดมาจากสัตว์ เช่น อูฐ, ค้างคาว
ในเขตพื้นที่รับผิดชอบด้านการเฝ้าระวังโรคของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี นับว่ามีความเสี่ยงสูงเพราะมีประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก ในเบื้องต้นขอให้ประชาชนสังเกตอาการหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน โดยในทารกที่มีอาการรุนแรงอาจมีลักษณะของปอดอักเสบ หรือ หลอดลมฝอยอักเสบ ในเด็กโตอาจมีอาการของหอบหืด ส่วนในผู้ใหญ่อาจพบลักษณะปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือการกลับเป็นซ้ำของโรคหอบหืดได้และอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจจ์ประจำปี 2557
เนื่องจากไวรัสโคโรน่า 2012 สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้หลายกลุ่มในวงจำกัด โดยพบในบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วย สมาชิกในครอบครัวเดียวกัน และในขณะนี้ยังไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อวงกว้างในชุมชน โคโรน่าไวรัสเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือระบบอื่นๆ ในคนและสัตว์ เช่น หนู ไก่ วัว ควาย สุนัข แมว กระต่าย และสุกร มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม โดยผู้ที่มีอัตราความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคคือผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต สำหรับการป้องกันการติดเชื้อใช้มาตรการการป้องกันพื้นฐานทั่วไป ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่มีอาการป่วย หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม รักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐานส่วนบุคคล โดยเฉพาะการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย
เปลี่ยนชุดป้องกันรวมถึงรองเท้าบูททุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ ไม่นำสัตว์ที่ป่วยไปประกอบอาหาร การบริโภคผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ เช่น นม และเนื้อสัตว์ มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโคโรน่าไวรัส ทำได้โดยการซักประวัติอย่างละเอียด หากผู้ป่วยได้เดินทางกลับมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง และมีอาการไข้ร่วมกับอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (Severe Acute Respiratory Infection : SARI) ควรคำนึงถึงว่าอาจติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมิร์สคอฟ MERS-CoV การตรวจทางห้องปฏิบัติการทำได้โดย 1.เอกซเรย์ปอด (Chest imaging เช่น x-ray or CT scan) ลักษณะปอดอักเสบอาจพบภาพฉายรังสีไม่แตกต่างจากภาวะปอดอักเสบโรคอื่น 2.การเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อหาเชื้อสาเหตุ ควรเก็บทั้ง Nasopharyngeal swab และตัวอย่างที่มีจากทางเดินหายใจส่วนล่างด้วย เช่น Bronchoalveolar lavage, Bronchial wash, or Tracheal aspirate เป็นต้น โดยส่งตรวจโดยใช้ Reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR) โดยส่งตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
การรักษาในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ เช่น ยาต้านไวรัส เนื่องจากโรค MERS-CoV เป็นโรคอุบัติใหม่ ข้อมูลการใช้ยาต้านไวรัสมีค่อนข้างจำกัด เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคยังไม่สามารถผลิตได้ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงให้การรักษาตามอาการเป็นหลัก รวมทั้งรักษาประคับประคองโดยเฉพาะด้านระบบหายใจ ให้การช่วยเหลือภาวะขาดออกซิเจน และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- 152 views