มติชน - เชื้อไวรัสอีโบลาที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในประเทศกินีปีนี้ เป็นสายพันธุ์ใหม่ จากหลักฐานว่าโรคที่เกิดขึ้นที่นั่นไม่ได้แพร่ระบาดมาจากประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา โดย ดร.สเตฟาน กุนเธอร์ แห่งสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแบร์นฮาร์ด นอคต์ ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ผู้นำทีมนักวิจัยนานาชาติที่ศึกษาพันธุกรรมของเชื้อไวรัส เผยแพร่รายงานผลการค้นพบไว้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ฉบับออนไลน์เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาว่า "ยังคงไม่รู้แหล่งที่มาของเชื้อไวรัส ทว่า ไม่ได้แพร่ระบาดมาจากประเทศใกล้เคียง"
ผลการวิจัยชิ้นใหม่นี้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วย 20 ราย ที่ป่วยจากการแพร่ระบาดของโรคในรอบปัจจุบันและพบว่า สายพันธุ์นี้มีลักษณะที่ไม่เหมือนกับสายพันธุ์อื่นๆ
ดร.กุนเธอร์กล่าวว่า "เชื้อดังกล่าวนี้ไม่ได้มาจากคองโก และไม่ได้มาจากประเทศอื่นๆ อย่างกาบองซึ่งเป็นสถานที่ที่พบเชื้ออีโบลาด้วยเช่นกัน" ทีมนักวิจัยคิดว่าเชื้อสายพันธุ์กินีและ สายพันธุ์อื่นๆ ค่อยๆ พัฒนาอย่างคู่ขนานกันมาจากเชื้อไวรัสโบราณในอดีตสายพันธุ์หนึ่ง
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า โรคระบาดดังกล่าวยังคงแพร่กระจายสร้างความตื่นตระหนก โดยคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 120 คนทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่ อยู่ในประเทศกินี เชื้ออีโบลาจะส่งผลให้มีเลือดออกภายในร่างกาย การทำงานของอวัยวะล้มเหลว และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 30-90 เปอร์เซ็นต์แล้วแต่กรณี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การติดต่อเกิดขึ้นผ่านทางการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อโดยตรง และกรณีก่อนหน้านี้มีความเชื่อมโยงกับค้างคาวผลไม้บางชนิดที่อาศัยอยู่ทางตะวันตก ของทวีปแอฟริกา
ทั้งนี้ ยังไม่มีวิธีการรักษาหรือว่าวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้น การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจะมุ่งเน้นไปที่การให้การดูแล ช่วยเหลือ ประคับประคองผู้ที่ได้รับเชื้อ และแยกผู้ป่วยออกไปให้อยู่ในพื้นที่จำกัดการแพร่ระบาด
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขระบุว่า เชื้ออีโบลาในกินีเป็นสายพันธุ์ซาอีร์ ซึ่งเป็นชนิดที่แตกต่างจากที่พบในผู้ป่วยหลายกรณีในพื้นที่อื่นๆ ของทวีปแอฟริกา อนึ่ง ซาอีร์เป็นชื่อเก่าของประเทศคองโกในปัจจุบัน
โรคระบาดจากเชื้ออีโบลาในกินีดูเหมือนว่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้น และค่อยๆ แพร่ระบาดอย่างช้าๆ มาช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยที่ยังไม่ถูกตรวจพบ และทีมนักวิจัยยังคงเดินหน้าตรวจสอบเพื่อที่จะระบุ ให้ได้ถึงสัตว์ชนิดที่เชื่อว่าเป็นแหล่งที่มาของเชื้อสายพันธุ์นี้ให้พบ (เอพี)
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 19 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 9 views