ปัญหาอุบัติยังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ การรณรงค์ลดอุบัติเหตุจึงยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ ในปีนี้ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยในช่วงวันหยุดยาวภายใต้โครงการ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” ด้วยการจัด “โซนนิ่ง – ไม่นั่งนิ่ง – ไม่ดูดาย” โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง “พรหมมินทร์ กัณธิยะ” แห่งสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)ร่วมสร้างวัฒนธรรมเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย
“วันสงกรานต์แทนที่จะเป็นวันแห่งความสุข อาจกลับเป็นวันแห่งความโศกเศร้าของบางครอบครัว ที่บุคคลในครอบครัวต้องมาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงวันดังกล่าว” นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าว
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ
ผอ. สคอ. กล่าวว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของ สคอ. ในวันนี้ คือ การประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และจัดทำรายละเอียด มาตรการในการลดอุบัติเหตุ หรือจัดพื้นที่ร่วมรณรงค์ โดยผ่านสื่อมวลชน รวมทั้งการผลิตสื่อ ตามกรอบนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน
ทั้งนี้ในปี 2556 อุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์มากถึงร้อยละ 78.18 โดยมีสาเหตุจากการเมาสุรามาเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 39.11 อายุของผู้เสียชีวิตเป็นช่วงวัยแรงงาน ร้อยละ 56.70 ถนนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ทางหลวง ร้อยละ 37.87 และบนถนน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 36.67 วันที่เกิดอุบัติคือ วันที่ 13 เมษายน 2556
นายพรหมมินท์ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ทาง สคอ.และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้การระดมความคิดว่า จะทำอย่างไรตัวเลขอุบัติเหตุจะลดลง ผลสรุปจึงได้แนวทางการดำเนินงาน คือ “โซนนิ่ง – ไม่นั่งนิ่ง – ไม่ดูดาย” คือ โซนนิ่ง มีการกำหนดพื้นที่เล่นน้ำ รวมทั้งมีลานจอดรถ ประชาสัมพันธ์สถานที่เที่ยว กิน โดยมีอาสาสมัครมาช่วยเฝ้าระวังไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในสถานที่จัดงาน ซึ่งในตอนนี้มีพื้นที่ที่เข้าร่วมกับทาง สคอ.แล้ว 30 กว่าพื้นที่ และยังมีพื้นที่อีก 200-300 แห่งทั่วประเทศที่จะมีการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้า
ไม่นั่งนิ่ง จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะนั่งเฝ้าเต็นท์เพียงอย่างเดียว เราจะให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ลุกออกจากเต็นท์เพื่อออกสำรวจและแก้ไขจุดเสี่ยง,พฤติกรรมเสี่ยง,ร้านค้า และจุดเล่นน้ำ เพื่อหากพบจุดที่ล่อแหลมหรือเป็นอันตรายจะได้รับแก้ไขทันที ทั้งนี้ได้วางกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร กว่า 300 คนบนจุดตรวจและบริการ
และสุดท้าย ไม่ดูดาย คือ พื้นที่และครอบครัวจะต้องช่วยกันรณรงค์ให้มีการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย งดสาดน้ำที่รุนแรง หรือสาดน้ำใส่มอเตอร์ไซค์ ไม่เล่นแป้ง ไม่ลามกอนาจาร รวมทั้งแต่งกายให้เหมาะสม มิดชิด
ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงาน “โซนิ่ง –ไม่นั่งนิ่ง- ไม่ดูดาย” ทาง สคอ.และเครือข่ายจะให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้กำหนดแนวทางการดำเนินงานกัน รวมทั้งการตั้งเป้าลดตัวเลขอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลดังกล่าว เพื่อให้พื้นที่และชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และกำหนดแนวทางได้เหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ผอ.สคอ. บอกว่า ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ทำงานด้านนี้มาโดยตลอด พบว่า รูปแบบและสาเหตุการตายไม่เปลี่ยนแปลง และเราพบว่า การจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดแอลกอฮอล์จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง
“การทำงานในเทศกาลสงกรานต์ เราจะต้องเอาจารีตประเพณีที่ดีของวันสงกรานต์เป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นที่รู้ๆกันว่า เทศกาลสงกรานต์ของไทยมีเป็นรู้จักของคนทั่วโลก ว่าเป็นประเพณีที่ดีงาม สนุกสนาน พื้นที่ที่จัดงานอย่าเห็นแก่เงิน และปล่อยให้บริษัทขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากมามีส่วนร่วมในการจัดงาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของความสนุกที่ปลอดแอลกอฮอล์ ได้แก่ บรรดาถนนข้าวต่างๆ ที่ทำให้คนเห็นแล้วว่า เราจะได้น้ำสงกรานต์ได้อย่างสนุก และปลอดภัยได้ โดยไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์” นายพรหมมินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผอ.สคอ. ยังหวังว่าในปี 2557 นี้ อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ 7 วันอันตราย(11-17 เม.ย.) ตัวเลขของอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตจะลดลงจากปีที่ผ่านมา และให้คนไทยได้ตระหนักถึงการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน
ท้ายสุด ผอ.สคอ. อยากจะฝากถึงผู้ที่จะไปเที่ยวและเล่นน้ำ สงกรานต์ให้ปลอดภัย จะต้องเริ่มจากครอบครัวเป็นอันดับแรก พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องคอยสอดส่องดูว่าบุตรหลานที่จะไปเล่นน้ำ มีการแต่งกายที่เหมาะสมหรือไม่ สถานที่ไปเป็นอย่างไร สำหรับวัยรุ่นและหญิงสาวควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มิดชิด อย่าคิดถึงแต่เรื่องการแต่งกายที่ทันสมัยเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันการลวนลามจากผู้ที่ไม่หวังดี ไปไหนควรไปกันเป็นกลุ่มอย่างน้อย 3-4 คน ไม่ไปอยู่ในที่ที่ลับตาคน บอกสถานที่ที่จะไปเที่ยวกับคนทางบ้าน และที่สำคัญ คือ ไม่กลับบ้านดึก
- 41 views