องค์การเภสัชกรรมเตือนประชาชนที่ต้องเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้ระวังการทานยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ ก่อนขับรถ อาจทำให้ง่วง หลับในและเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
ภญ.นิภาพร ชาตะวิริยะพันธ์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจำนวนมากต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์จำนวนมาก และปีนี้จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 268-334 คน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน หนึ่งในนั้นคืออาการง่วงนอนหรือหลับใน องค์การฯจึงขอเตือนผู้ที่ต้องขับรถเดินทางควรระมัดระวังในการรับประทานยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ อาทิ ยาแก้ปวดทรามาดอล(Tramadol), ยาแก้ปวดอะมิทริปทัยลีน(Amitriptyline) และยาแก้ปวดกาบ้าเพนติน(Gabapentin) เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้มีฤทธิ์ในการกดประสาทส่วนกลาง เพื่อบรรเทาอาการปวด ส่วนยาคลายกล้ามเนื้อ อาทิ ยาโทลเพอริโซน (Tolperisone) และยาออเฟเนดรีน (Orphenadrine) ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ในการลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการปวดตึงทั้งร่างกาย ซึ่งยาทั้ง 2กลุ่มนี้ มีผลข้างเคียงมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล อาจจะทำให้ลดประสิทธิภาพในการขับขี่ ทำให้ตัดสินใจได้ช้าลง มองเห็นเป็นภาพเบลอ ไม่ชัด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
รองผู้อำนวยการฯ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ยังมียาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนชนิดอื่นๆ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงเมื่อต้องขับรถเช่นกัน อาทิ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก, ยาแก้แพ้ แก้คัน, ยากล่อมประสาท, ยาคลายกังวล, ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้เมารถ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ทานยาลดน้ำตาลในเลือด และต้องขับรถ หากระหว่างการเดินทางไม่สามารถทานอาหารได้ตรงเวลา อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด เหงื่อออกมาก ใจสั่น และอาจหมดสติได้ จึงจำเป็นต้องเตรียมอาหาร ลูกอม น้ำหวานไว้ระหว่างการเดินทาง เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าว นอกจากนี้ไม่ควรทานยาร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาลดน้ำมูก จะทำให้อาการง่วงของยาเพิ่มขึ้น ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาบรรเทาปวด ลดไข้ จะทำให้ตับเสียหายได้มากขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น ก่อนการเดินทางทุกครั้ง ควรมีการวางแผนการเดินทาง และวางแผนการทานยาก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทาง ว่ายาแต่ละชนิดที่ต้องทานในระหว่างการเดินทางนั้น มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง โดยปรึกษาแพทย์, เภสัชกร หรือโทรปรึกษาปัญหาการใช้ยาได้ที่ Call Center องค์การเภสัชกรรม 1648 ฟรี
- 1234 views