นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า บุคคลออทิสติกที่จบการศึกษาหรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกมีอัตราการตกงาน มากกว่า ร้อยละ 90 จึงควรร่วมกันดูแลช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้มีโอกาสในการทำงาน เช่น การส่งเสริมระบบการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ ทั้งโปรแกรมเตรียมพื้นฐานอาชีพ (Prevocational Program) โปรแกรมการสอนงาน (Job Coach Program) หรือ การสนับสนุนให้องค์กรเอกชนหรือองค์กรผู้ปกครองได้ร่วมดำเนินการกับสถานประกอบการ ส่งเสริมการจ้างงานบุคคลออทิสติกอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise) หรือโรงงานในชุมชนของกลุ่มบุคคลออทิสติก (Community Workshop) เพื่อการมีอาชีพและสามารถดำรงชีวิตได้ตามศักยภาพ
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องรับผู้พิการเข้าทำงานในลักษณะงานในอัตราที่เหมาะสมกับผู้ปฎิบัติงาน จะช่วยส่งเสริมให้ผู้พิการมีความมั่นใจในตนเองและได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น การมีงานทำของผู้พิการหรือผู้ป่วยออทิสติกเหล่านี้ จึงย่อมนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เปลี่ยนจาก “ภาระ” เป็น “พลัง” ของครอบครัว สังคมและประเทศชาติได้ ซึ่งการส่งเสริมให้บุคคลออทิสติกมีงานทำ ประกอบด้วย 3 หลักการ ได้แก่ 1.Choose เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่บุคคลออทิสติกเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม 2. Get ผลักดันส่งเสริมให้สามารถทำงาน โดยมีขั้นตอนของการประเมินความสามารถและความสนใจในการทำงาน การหางานให้ตรงกับความสามารถ (Job match) และการฝึกทักษะการทำงาน และ 3. Keep ติดตามผลและสนับสนุนให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
จากการติดตามโรคออทิสติก ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากรายงานการสำรวจอุบัติการณ์กลุ่มอาการออทิสติกของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2553 ที่พบความชุก 1 : 88 ขณะที่การสำรวจอย่างเป็นทางการของไทยในเด็กอายุ 0-5 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2547 พบ 1:1,000 (ร้อยละ 0.1) โดยคาดว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติก ประมาณ 370,000 คน ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนยังเข้าใจเรื่องนี้น้อย ทำให้การเข้าถึงบริการน้อยมากเพียงประมาณ ร้อยละ 15 โดยจากรายงานจำนวนผู้ป่วยทางสุขภาพจิตของประเทศที่กระจายตามเขตสาธารณสุขรายจังหวัด ปี 2555 มีผู้ป่วยออทิสติกเข้าถึงบริการจำนวน 25,537 ราย คิดเป็นอัตรา 39.74 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า โรคนี้ สามารถรักษาได้ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม พบตั้งแต่กำเนิด สังเกตพบได้ก่อนอายุ 3ขวบ
- 75 views