ความร้อนแรงทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ประชาชน กลุ่มสถาบันต่างออกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อการเมืองอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะกลุ่ม "ศิริราชรักประเทศไทย" ที่ออกมาต่อต้านไม่เอารัฐบาลที่โกงชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคใดก็ตาม หนึ่งในแกนนำของกลุ่มฯที่มีบทบาทเป็นที่จับตาของสังคมคงหนีไม่พ้น หมอนริศ หมอหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีมุมมองและบทบาทการทำงานที่น่าสนใจ
รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร , ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนโยบายและแผนคณแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันนี้สวมบทบาทของจักษุแพทย์ ผู้มีหน้าที่รักษาคนไข้ ด้วยอุดมการณ์ของคนที่เป็นหมอด้วยใจ ในอีกบทบาทหนึ่ง คือ อาจารย์หมอ ผู้ที่ทุ่มเทแรงกายและใจสั่งสอนลูกศิษย์ให้มีความรู้ทั้งในและนอกตำรา และบทบาทล่าสุดคือ การเป็นแกนนำของกลุ่มศิริราชรักประเทศไทย ที่ร่วมกันต่อต้านรัฐบาลกับ กปปส.
บทบาทแรก คือ การเป็นจักษุแพทย์ รศ.นพ.นริศ กล่าวว่า ตลอดการเป็นจักษุแพทย์ทำให้ตนรู้ว่า โรคต้อกระจก เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ที่ใช้เวลาการผ่าตัดไม่มาก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ส่งผลให้ประชาชนเหล่านี้ต้องสูญเสียดวงตาเป็นการถาวร ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้อาจารย์หมอท่านหนึ่ง รวมทั้งตนเองและเพื่อนหมอในศิริราชรวมตัวกันเพื่อจัดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้ารักษาโรคทางตาเป็นเวลามากหนึ่งทศวรรษ
จากการที่ประเทศไทย มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ขึ้นมา ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ แต่ในความคิดส่วนตัวแล้ว คือ ควรจะให้สิทธิรักษาฟรีกับประชาชนที่จนจริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการสร้างปัญหาในระบบสภาพคล่องให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมได้ และกรมบัญชีกลาง และ สปสช. ไม่ควรกำหนดราคาวัสดุที่ใช้ในการรักษา เช่น เลนส์ตาที่ใช้นั้นการรักษาผู้ป่วยโรคต้อกระจก ที่กำหนดราคาไว้ไม่เกิน 2 พันกว่าบาท นั่นหมายถึงเราต้องใช้เลนส์ตาให้กับผู้ป่วย ที่เป็นเลนส์ตาที่มีใช้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ประสิทธิภาพของเลนส์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยในเวลากลางคืน ซึ่ง สปสช.และกรมบัญชีกลางจะต้องทบทวนบทบาท การบริหารการจัดการของตนเองอีกครั้ง เพื่อประสิทธิผลที่ดีของทุกฝ่าย
"มันเป็นความรู้สึกเจ็บปวดใจทุกครั้งที่ต้องให้ผู้ป่วยเซ็นรับทราบว่า ถ้าจะใช้เลนส์ที่ดี ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม"
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ตนยึดถือเสมอ คือ คำสอนของอาจารย์หมอที่บอกว่า ทุกครั้งที่เรารักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด ให้เราคิดว่า ถ้าผู้ป่วยคนนั้นเป็นพ่อ แม่หรือคนในครอบครัว แล้ว เราย่อมจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย
บทบาทที่สอง...อาจารย์หมอ รศ.นพ.นริศ ระบุว่า ทุกวันนี้ระบบการศึกษาไทยล้มเหลวมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลแล้ว ครูไม่เคยสอนให้เด็กสะกดคำเป็น ไม่มีวิชาพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ให้เด็กได้เรียนกันทำให้เด็กทุกวันนี้ไม่มีความรู้ ความรักในศาสนา และชาติ ตนรู้สึกผิดหวังกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรงศึกษาธิการ ที่ตนมองว่า นายจาตุรนต์เป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดที่ดี แต่พอมาเป็นรัฐมนตรีกลับไม่มีผลงานอะไรที่โดดเด่นเลย
“เมื่อต้องมาสอนนักศึกษาแพทย์ เราต้องมีหน้าให้ความรู้ไปพร้อมๆกับสังคม การเป็นแพทย์สมัยนี้ไม่เพียงแค่การรักษาเท่านั้น เราจะต้องสอนให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้เรื่องการรักษา การป้องกันการเกิดโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูผู้ป่วยควบคู่กันไป”
ความรู้มิใช่อยู่แค่ในตำราเท่านั้น ทุกครั้งที่มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จะมีนักศึกษาแพทย์ไปด้วย เพื่อให้นักศึกษาแพทย์เหล่านี้ได้รู้จัก และคลุกคลี สื่อสารกับชาวบ้านได้ ซึ่งวิชาเหล่านี้ในตำราไม่มีสอน
"ระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนไปจากอดีต เน้นเลียนแบบต่างประเทศ ควรคิดว่า สิ่งเหล่านี้เหมาะสมกับคนไทยหรือไม่ บอกว่าการศึกษาไทยมีการปรับปรุงแล้ว แต่ในทางรูปธรรมเรายังมองไม่เห็น"
บทบาทที่สาม....แกนนำศิริราชรักประเทศไทย ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ รศ.นพ.นริศ บอกว่า เป็นเคลื่อนไหวในฐานะของคนไทย ที่ต้องการต่อสู้กับนักการเมือง ให้เขารู้ว่า ประชาชนไม่เอารัฐบาลที่โกง ไม่ใช่เฉพาะกับรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์เท่านั้น เราจะต่อต้านกับทุกรัฐบาลที่โกง
ส่วนการเคลื่อนไหวในนามองค์กรนั้น ตนขอบอกว่า ตนออกมาในนามของชาวศิริราชส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว เพราะตนเชื่อว่า ไม่มีทางที่คนในองค์กรไหนจะมีความเห็นชอบตรงกัน 100% ซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข เป็นการสื่อความหมายไปถึงนักการเมืองว่า หากคุณบริหารงานแบบนี้แล้ว ประชาชนเขาไม่ปล่อยคุณไว้แน่
"การเคลื่อนไหวทางการเมืองจำเป็นต้องมีแกนนำที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ประชาชนกำลังใช้คุณสุเทพในการต่อสู้ไม่ใช่คุณสุเทพใช้ประชาชน จากที่มีคนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาทางการเมือง ประชาชนเริ่มมีความสนใจทางการเมืองมากขึ้น"
รศ.นพ.นริศ กล่าวว่า ระบอบประชานิยม ยังคงอยู่กับทุกพรรคการเมือง ซึ่งระบอบประชานิยมนี้เป็นผลเสียในสังคมหลายๆด้าน ที่เห็นเด่นชัดคือ ทำให้คนไทยเสพติดกับการได้ของฟรีต่างๆ เช่นรถเมล์ รถไฟฟรี ซึ่งการดำเนินงานทุกอย่างมีต้นทุนด้วยกันทั้งสิ้น ปัจจุบันการทำงานของนักการเมืองจะมีประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองเอง
สุดท้าย รศ.นพ.นริศ กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศไทย ได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของคนไทย จะต้องเป็นหน่วยงานที่ปลอดการเมืองอย่างสิ้นเชิง นโยบายที่กำหนดขึ้นจะต้องปลอดการเมือง และจะต้องเป็นนโยบายที่มาจากผู้บริหาร คือ รัฐมนตรี แต่จะต้องเป็นนโยบายที่ยังคงประโยชน์ให้กับประชาชนเท่านั้น
- 275 views