ข่าวสด - นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกที่ ไม่ต้องสำรองจ่ายของรัฐบาล ล่าสุดพบว่ามีกรณีโรงพยาบาลวิภาวดี มีผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ 75 ปี มาจากจ.สุราษฎร์ธานี เดินทางมาร่วมงานแต่งงาน และเกิดอุบัติเหตุล้มลงจนลิ้นจุกปาก ต้องนำส่งร.พ.ใกล้ที่สุด คือ ร.พ.วิภาวดี ปัญหาคือ ร.พ.แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายสูง ทางคนไข้ต้องการย้าย แต่ร.พ.ไม่อนุญาตบอกว่าอันตรายและสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ให้ญาติเซ็นยินยอม แต่สุดท้ายร.พ.แจ้งว่า สปสช.จ่ายได้เพียง 2.5 แสน จากค่าใช้จ่าย 7-8 แสน ซึ่งร.พ.ไม่อธิบายถึงเงื่อนไขตั้งแต่แรก สุดท้ายเกรงว่าอาจจะต้องถึงขั้นฟ้องร้องกัน จึงอยากให้สปสช.อธิบายความชัดเจนในเรื่องนี้
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า สปสช. ได้ติดต่อกับทางร.พ.วิภาวดี เพื่อขอความเห็นใจกรณีดังกล่าว แต่ต้องยอมรับว่าสปสช.ไม่สามารถจ่ายได้ทั้งหมด เพราะตามนโยบายจ่ายได้ตามกลุ่มและระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งร.พ.เอกชนแต่ละแห่ง จะมีราคาข้อกำหนดแตกต่างกัน
ทั้งนี้ สปสช. ตั้งใจจะพัฒนาระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาการเข้ารับบริการเมื่อประชาชนประสบภาวะฉุกเฉิน ยอมรับว่านโยบายนี้ดีแต่อาจมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะร.พ.เอกชนที่ยังตกลงอัตราการรับค่าใช้จ่ายไม่ได้
อย่างไรก็ตามสปสช.อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่สุด
ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 4 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 1 view