หลายครั้งที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานพยายามผลักดันวาระปัญหาต่างๆเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อาทิ การผลักดันกฎหมายประกันสังคม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ฯลฯ มักได้ยินคำให้สัมภาษณ์จากผู้นำแรงงานว่า หากรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง จะรณรงค์ให้ผู้ใช้แรงงานไม่กากบาทเลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) ที่สังกัดพรรคนั้นในการเลือกตั้งคราวต่อไป
นอกจากนี้ ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สส.แต่ละครั้ง ก็มักจะเห็นขบวนการแรงงานทำข้อเสนอการปฏิรูประบบแรงงานด้านต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองทำสัญญาประชาคมว่าหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแล้วจะนำข้อเสนอไปดำเนินการ โดยที่ผู้ใช้แรงงานจะเทคะแนนให้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกลายเป็นว่าอำนาจต่อรองของแรงงานไม่มีน้ำหนัก ไม่สามารถกดดันให้ฝ่ายการเมืองดำเนินการตามที่ต้องการได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกรณีที่สภาผู้แทนราษฏรลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ผู้ใช้แรงงานยกร่างและเข้าชื่อเสนอ ส่งผลให้กฎหมายที่รอบรรจุเข้าวาระประชุมสภานานนับปี ถูกตีตกไปอย่างง่ายดาย หรือแม้แต่วันแรงงานทุกๆปีก็จะเห็นข้อเรียกร้องเดิมๆทั้งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การเรียกร้องสิทธิในการรวมตัวตั้งสหภาพแรงงาน การเรียกร้องให้เพิ่มสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ
ขณะที่ภาวะการเมืองในช่วงนี้ แม้จะยังอยู่ในสถานะ “ยื้อและยัน”ระหว่างรัฐบาลและกปปส. ทว่าที่สุดแล้วย่อมหนีการเลือกตั้งไม่พ้นแม้ว่าอาจจะต้องรออีกนานหลายเดือนหรืออาจเป็นปี ซึ่งเมื่อถึงช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็จะเห็นวงจรเดิมๆว่าด้วยคะแนนเสียงจากแรงงานกับพรรคการเมือง
บุญยืน สุขใหม่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งที่คะแนนเลือกตั้งของกลุ่มแรงงานไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือผลักดันแก้ปัญหาของตัวเองได้นั้น เพราะในทางปฏิบัติและธรรมชาติของแรงงาน จะทำงานนอกถิ่นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่น ตัวเขาเองบ้านจริงๆอยู่จังหวัดนครราชสีมา แต่มาทำงานในจังหวัดระยองนานกว่า 20 ปีแล้ว เวลาจะเลือกตั้งไม่สามารถเลือกตั้ง สส.ในพื้นที่ที่ทำงานได้ ต้องเลือก สส.ตามทะเบียนบ้าน ซึ่งคนงานก็ไม่รู้จะเลือกใครเพราะไม่รู้จักผู้สมัครเลย แม้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ ก็ต้องเลือกผู้สมัครสส.ตามทะเบียนบ้านอยู่ดี
“เรื่องนี้พูดกันมานานแต่พรรคการเมืองไม่ตอบรับ ดังนั้นถ้าจะให้คะแนนเสียงของผู้ใช้แรงงานมีความหมายจริงๆ ต้องแก้กฎหมายเลือกตั้งให้คนงานเลือก สส.ในพื้นที่สถานประกอบการที่ทำงานอยู่ได้ เราทำงานในพื้นที่นี้ก็ควรมีสิทธิเลือกตั้ง สส.ในพื้นที่สิ อย่างผมเนี่ยถ้าให้ไปเลือก สส.นครราชสีมาก็ไม่รู้จะเลือกใคร”บุญยืน กล่าว
ขณะที่ นคร มาฉิม อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.พิษณุโลก หลายสมัย ที่ทำงานคลุกคลีกับกลุ่มแรงงาน และงานในสภาเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ให้ความเห็นว่า ประชากรกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีถึง 36 ล้านคน ซึ่งถ้ารวมกันได้อย่างมีเอกภาพจะมีพลังกดดันให้พรรคการเมืองทุกพรรคผลักดันนโยบายแรงงานได้ทุกเรื่องทุกระดับ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือปัจจุบันมีแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 3-4 แสนคนเท่านั้น ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้แรงงาน 36 ล้านคน และสมาชิกสหภาพแรงงานที่ active ก็ยิ่งน้อยลงไปอีกประมาณ 1-2 แสนคนเท่านั้น
นอกจากจำนวนแรงงานที่รวมตัวกันจะมีน้อยแล้ว กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆก็ไม่มีเอกภาพ ผู้นำองค์กรแรงงานหลายแห่งยังต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจ รัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองเป็นหลักเพื่อวิ่งหาตำแหน่งหรือสิทธิพิเศษต่างๆ
“เรื่องนี้เป็นปัญหาภายในของขบวนการแรงงานเอง ที่ไม่มีเอกภาพทำให้ไม่สามารถรวมตัวกำหนดนโยบายสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของตัวเองได้”นคร กล่าว
ปัจจัยต่อมาคือส่วนของภาครัฐหรือพรรคการเมืองผู้กำหนดนโยบาย ก็ไม่ส่งเสริม ไม่ต้องการให้แรงงานรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง บอนไซให้อ่อนแอไม่ให้มามีอำนาจต่อรองได้ พูดง่ายๆคือรัฐก็ขาดความจริงใจกับแรงงาน
“ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ต้องการให้มีกลุ่มพลังใดๆมามีอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะแรงงานที่หากมีการรวมตัวเข้มแข็ง และเมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องได้ จะกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นภาครัฐจึงพยายามบอนไซขบวนการแรงงานด้วยการไม่ให้งบประมาณสนับสนุนการรวมกลุ่มกันของลูกจ้าง ต้องเข้าใจว่าการทำกิจกรรมหรือรวมกลุ่มต่างๆต้องใช้เงิน ทีนี้แรงงานส่วนใหญ่ก็มีรายได้น้อย จะให้ไปหาเงินออกเงินสนับสนุนกิจกรรมก็ลำบาก พูดง่ายๆก็คือแค่ทำมาหากินก็เหนื่อยแล้ว ถึงต้องให้รัฐเป็นแม่งานสนับสนุนงบเข้าไป”นคร กล่าว
นคร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา การให้งบสนับสนุนของภาครัฐ ทำเพียงเป็นเชิงสัญญาลักษณ์เท่านั้นในวันแรงงานต่างๆ แต่ไม่มียุทธศาสตร์การส่งเสริมการรวมกลุ่มใดๆอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรและภาคการผลิตที่แทบไม่รู้สิทธิประโยชน์ที่ตัวเองควรได้เลย
ปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องของการศึกษา เพราะระบบการศึกษาของไทยเรียนแต่วิชาความรู้ต่างๆ แต่กลับไม่สอนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆที่ผู้เรียนควรได้รับได้เมื่อไปทำงานแล้ว
“แม้จะไม่ได้เรียนกฎหมายแต่โรงเรียนก็ควรสอนให้ทุกคนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ถ้าในต่างประเทศพรรคการเมืองหรือรัฐบาลต้องฟังและตอบสนองผู้ใช้แรงงานเลย หรือบางประเทศที่มีการรวมตัวอย่างมีเอกภาพก็ถึงขั้นตั้งพรรคแรงงานได้ ต่อรองผลักดันนโยบายต่างๆได้”นคร กล่าว
นคร สรุปทิ้งท้ายว่า ภาครัฐเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งเสริมให้แรงงานมีการรวมตัวสร้างอำนาจต่อรองได้ และจำเป็นต้องมีการปฏิรูปท่าทีของภาครัฐ ซึ่งน่าเสียดายที่รอบนี้ สื่อกระแสหลักให้น้ำหนักไปที่ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นหลัก จนทำให้เรื่องอื่นๆถูกลดทอนความสำคัญลงไปเสียหมด
- 19 views