เดลินิวส์ - รายงานข่าวจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ ฝ่ายบริหารสคบ.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาออกคำสั่งให้ร้านอาหาร รวมทั้งสถานบันเทิงทั่วประเทศ ระงับการให้บริการสูบบารากุ ซึ่งเป็นยาเส้นชนิดหนึ่งที่ปรุงแต่งกลิ่น และใช้สูบผ่านเครื่อง ลักษณะคล้ายตะเกียงอาหรับ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น เป็นการชั่วคราว เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ ว่าการให้บริการดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย โดยเฉพาะการนำสารเสพติดบางชนิดผสมเข้าไปในตัวยาเส้น พร้อมทั้งขอให้พิจารณาแนวทางการควบคุมสินค้าดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วยสำหรับการให้บริการสูบบารากุนั้น สถานบันเทิงส่วนใหญ่ มักจะใช้เครื่องมือการสูบที่เป็นภาชนะเนื้อโลหะ รูปทรงคล้ายตะเกียงอาหรับ ทรงสูงปากแคบ ส่วนบนสุดใช้วางยาเส้นที่เรียกว่า มาแอสเซล ซึ่งเป็นส่วนผสมของใบยาสูบกับสารที่มีความหวานอย่าง น้ำผึ้ง กากน้ำตาล ผลไม้ หรือดอกไม้ตากแห้ง รวมไปถึงสมุนไพรต่าง ๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศในกลุ่มอาหรับ ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นหอม ห่อไว้ในกระดาษฟอยล์ และใช้ถ่านหรือความร้อนจากไฟฟ้าในการเผายาเส้น ควันจากการเผาไหม้จะผ่านน้ำมายังส่วนล่างสุด ซึ่งด้านล่างจะเป็นกระเปาะใส่น้ำ เมื่อทำความร้อน ยาสูบจะเกิดควันแล้วลอยผ่านมาทางน้ำ และผ่านไปยังท่อที่ต่อกับส่วนปากดูด เพื่อใช้ในการดูดควัน“ข้อมูลของตัวยาบารากุที่สูบนั้น ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภคหรือไม่ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายตัวใดออกมาควบคุมสินค้าชนิดดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ สถานบันเทิงส่วนใหญ่มักให้บริการ ด้วยการเปิดให้ผู้บริโภคสูบกันอย่างเปิดเผย ซึ่งไม่รู้ว่ามีสารเสพติดผสมไว้หรือไม่ จึงขอให้ระงับการให้บริการไว้ก่อน จนกว่าจะทดสอบได้ แต่เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยาก เพราะคงต้องหารือกับหลายหน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กวดขันด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าตัวของยาเส้นเปล่า ๆ ไม่ได้มีอันตราย แต่ไม่รู้ว่า เมื่อนำไปสูบได้ผสมสารอะไรไว้หรือไม่”ขณะเดียวกัน สคบ.ยังได้รับข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการบางรายได้ดัดแปลงบารากุ ให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น ด้วยการผลิตออกมาเป็นแบบไฟฟ้า ลักษณะเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้า และได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นเช่นกัน ซึ่งล่าสุดสคบ.ได้ประสานไปยังสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือ และสอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวข้างต้น โดยสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบได้แจ้งกลับมาว่า ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวจากผู้บริโภค แต่ได้ทราบเรื่องแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดต่อสำนักงานเขตต่าง ๆ เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ
ที่มา: http://www.dailynews.co.th
- 57 views