กรมสุขภาพจิตชี้ “โรคไบโพลาร์” รักษาให้หายเป็นปกติได้ ระบุมีทั้งรักษาด้วยยา จิตบำบัด เผยครอบครัวสำคัญที่สุด ต้องให้กำลังใจ ความเข้าใจ และความใส่ใจ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราที่เท่ากัน มักเริ่มมีอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และมักพบร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตหรือภาวะในทางจิตเวชอื่นด้วย ทั้งการใช้สารเสพติด ภาวะเครียด หรือโรควิตกกังวล และพบว่าโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปอย่างชัดเจน
นพ.เจษฎา กล่าวว่า จากรายงานจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ประจำปี 2556 จำนวน 156,663 ราย พบ เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ 52,852 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งหมด เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุที่พบมาก 3 ลำดับแรก ได้แก่ 45-49 ปี รองลงมา 40-44 ปี และ 50-54 ปี ตามลำดับ โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในลักษณะที่แตกต่างกันคนละขั้ว เหมือนเป็นคนละคน ได้แก่ มาเนีย (Mania) เช่น อารมณ์ครื้นเครงมากกว่าปกติ รู้สึกว่ามีความสุขมาก พูดจามีอารมณ์ขัน คึกคะนอง เมื่อถูกขัดใจจะหงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างรุนแรง เป็นต้น และ ซึมเศร้า (Depreession) ได้แก่ รู้สึกเศร้าสร้อย หดหู่ เบื่อหน่าย ท้อแท้ มองโลกแง่ลบ จิตใจไม่สดชื่น ไม่สนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบทำ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวจะคงอยู่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์
“ไม่ว่าจะแสดงอาการในขั้วอารมณ์ใด ล้วนจำเป็นต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้งได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง เพราะไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้รับการเอาใจใส่ ติดตามดูแลอย่างเหมาะสม การรักษา มีทั้งการรักษาด้วยยา ซึ่งต้องกินต่อเนื่อง การให้คำปรึกษาแนะนำหรือจิตบำบัดที่มุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมและการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับปัญหาในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งเรื่องธรรมชาติของโรค ปัจจัยเสี่ยง การรักษา วิธีการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการสื่อสารที่มีคุณภาพในครอบครัว เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการรักษา นอกจากนี้ ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมคลายเครียด ไม่ใช้ยากระตุ้นหรือสารมึนเมา เช่น เหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง ทานยาตามแพทย์สั่ง หมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรก และรีบพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก ไม่หยุดยาเอง ญาติและคนใกล้ชิดต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ ดูแลให้ผู้ป่วยกินยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วย รีบพาไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย เมื่อผู้ป่วยหาย ก็ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน และไม่หยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์
- 137 views