ข่าวสด - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยการใช้จุลินทรีย์บาซิลลัส สเฟียริคัส หรือบีเอส ฉีดพ่นลงในแหล่งน้ำเน่าขังที่พบลูกน้ำยุงรำคาญเพียงชนิดเดียวติดต่อกัน 3 เดือน อาจทำให้ยุงดื้อและเพิ่มปริมาณมากขึ้นได้ ชี้ควรใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงที่เหมาะสม ได้แก่ สารยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ไดฟลูเบนซูรอนหรือโนวาลูรอน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำว่ามีความปลอดภัยต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัญหายุงรบกวนเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการดำรงชีวิตของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุงรำคาญพาหะโรคฟิลาเรีย(โรคเท้าช้าง) ซึ่งมีแหล่งเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำเน่าและท่อระบายน้ำ การพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัยนั้นมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องผ่านการอบรมวิธีการใช้อย่างถูกต้อง ใช้งบประมาณสูงแต่ได้ผลแค่ระยะสั้นๆ เพียง 1-2 วัน เท่านั้น ทั้งนี้ผลจากการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผ่านมาพบว่า การกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญสามารถดำเนินการได้ในเบื้องต้น โดยการเก็บขยะที่ลอยอยู่บริเวณน้ำเน่าเสียขึ้น และอาจปล่อยปลากินลูกน้ำลงไปร่วมด้วย อย่างไรก็ตามมาตรการเบื้องต้นเหล่านี้ยังไม่สามารถลดจำนวน
ลูกน้ำยุงรำคาญได้มากพอ จึงจำเป็นต้องใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญที่เหมาะสม ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำว่ามีความปลอดภัยสูงต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ไดฟลูเบนซูรอน (Diflubenzuron) หรือโนวาลูรอน (Novaluron) หรือใช้จุลินทรีย์บาซิลลัส สเฟียริคัส (Bacillus sphaericus )หรือ บีเอส ฉีดพ่น ลงในแหล่งน้ำเน่าขังที่พบลูกน้ำยุงรำคาญ แต่อย่างไรก็ตามนักวิจัยของกรมวิทย์ฯ พบว่าการใช้จุลินทรีย์บีเอส เพียงชนิดเดียวติดต่อกันประมาณ 3 เดือน ก่อให้เกิดการดื้อในภายหลัง จึงได้ทดลองใช้ จุลินทรีย์บีเอสผสมกับจุลินทรีย์บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส (Bacillusthuringiensis) หรือบีทีไอ ผลปรากฏว่าสามารถควบคุมยุงรำคาญได้อย่างน้อย 3 สัปดาห์ ทั้งนี้จุลินทรีย์ดังกล่าวที่นำมาใช้นั้นไม่ใช่ส่วนที่มีชีวิต แต่เป็นโปรตีนที่เป็นพิษเฉพาะกับลูกน้ำยุงเท่านั้นและไม่สามารถขยายพันธุ์ในน้ำได้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการกำจัดลูกน้ำยุงลายพาหะโรค
ไข้เลือดออกในช่วงหน้าร้อน ควรเน้นกำจัดในแหล่งเพาะพันธุ์ที่พบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ ตุ่มน้ำ บ่อคอนกรีต ถังพลาสติก จานรองกระถางต้นไม้ จานรองใส่น้ำกันมด ฯลฯ หรือภาชนะธรรมชาติ ได้แก่ รูต้นไม้ กาบใบไม้ ตอไม้ ฯลฯ โดยใช้สารกำจัดลูกน้ำ ยุงลาย เช่น ซีโอไลท์กำจัดลูกน้ำยุงลาย นวัตกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับการยกย่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมไทยตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งจากการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีความคงทนได้ประมาณ 3 เดือนใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดแรงงานไม่ต้องใช้บ่อย โดยผลงานดังกล่าวเป็นการดำเนินงานร่วมกันของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และบริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และขณะนี้อยู่ระหว่าง ดำเนินการให้มีการวางจำหน่ายทั่วไปตาม ท้องตลาด
ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 28 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 721 views