ASTVผู้จัดการรายวัน - ก.อุตฯเตรียมลุยสอบบ่อขยะทั่วประเทศเล็งออกระเบียบบังคับรถบรรทุกกากอุตสาหกรรมทุกประเภทติด GSP และนำระบบ RFID ติดตัวถังที่เก็บกากอีกชั้นคาดดำเนินการได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ระยะยาวแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษ รับกากอันตรายหายจากระบบราว 7.5 แสนตัน ด้านกรมแพทย์แผนไทยส่ง "รางจืด" ช่วยกลุ่มเสี่ยงรอบบ่อขยะแพรกษา ชี้ช่วยลดสารพิษกลุ่มยาฆ่าแมลงได้ ปกป้องตับและสมองจากสารโลหะหนัก เตือนกินมากอาจเกิดอาการ เหน็บชา น้ำตาลลด
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีไฟไหม้บ่อขยะที่ จ.สมุทรปราการ ได้หารือร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)และ บ.รับจัดการกากอุตสาหกรรม 4 รายเห็นชอบร่วมกันว่า ระยะสั้นได้มอบหมายให้ทุกส่วนไปเร่งตรวจสอบปริมาณกากขยะให้ชัดเจนและดำเนินการเอาผิดเจ้าของบ่อขยะชุมชนที่มีขยะอุตสาหกรรมไปปน รวมถึงการแก้ไขระเบียบการติดตั้งระบบจีพีเอสในการกำจัดกากอุตสาหกรรมทุกประเภทและระยะยาวให้แก้ไขกฎหมายใหม่ที่จะต้องเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำผิดจากที่ปัจจุบันสูงสุดเพียงจำคุก 2 ปีปรับไม่เกิน 2 แสนบาทเนื่องจากทุกฝ่ายเห็นว่าบทลงโทษดังกล่าวน้อยเกินไปทำให้จูงใจที่จะลักลอบทำผิดได้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้นปี 2556 พบว่าไทยมีกากไม่อันตรายอยู่ที่ 45.7 ล้านตัน ขยะอันตรายอยู่ที่ 3.9 ล้านตันโดยในส่วนนี้อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่เป็นความรับผิดชอบ กนอ.คือขยะไม่อันตราย 27 ล้านตันและอันตราย 1.4 ล้านตัน ซึ่งส่วนนี้มั่นใจว่าจะเข้าระบบกำจัดทั้งหมด
"ตัวเลขขยะอันตรายแจ้งเข้าระบบมี 2.5 ล้านตันซึ่งถูกกำจัด 70% อีกประมาณ 30% หรือราว 7.5 แสนตันน่าจะหายไป แต่ตัวเลขบางอย่างก็อาจจะแจ้งไว้ค่อนข้าง โอเวอร์เพราะเอกชนบางรายขี้เกียจมาแจ้ง บ่อยๆ เราคงต้องไปรวบรวมให้ชัด" นายวิฑูรย์กล่าว
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรอ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดสำรวจบ่อขยะทั้งหมดว่ามีการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมไปปลอมปนทิ้งรวมหรือไม่หากเจอบ่อดินที่มีขยะอุตสาหกรรมทิ้งให้ดำเนินคดีทันทีกับเจ้าของบ่อทั้งบ่อฝังกลบและเผากาก รวมถึงโรงงานคัดแยกขยะที่มีอยู่ราว 1,200แห่ง และโรงงานรีไซเคิล 400 แห่งซึ่งพบว่าที่ผ่านมาอาจเป็นช่องทางลักลอบได้โดยปีที่ผ่านมาพบว่ามีโรงงานแจ้งเป็นรีไซเคิลแต่ไปตรวจกลับพบเป็นบ่อกุ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ได้เตรียมตั้งคณะทำงานที่จะศึกษาปรับปรุงกฎกระทรวงที่จะบังคับให้รถบรรทุกที่ขนขยะอุตสาหกรรมทั้งประเภทอันตรายและไม่อันตรายต้องติด จีพีเอสทั้งหมดจากขณะนี้มีเพียงการบังคับเฉพาะขยะอันตรายเท่านั้น พร้อมกับการบังคับให้รถบรรทุกดังกล่าวต้องติดตั้งเทคโนโลยีระบบระบุลักษณะของวัตถุด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) กับตัวถังที่เก็บกากอุตสาหกรรมด้วยเพื่อประสิทธิภาพอีกขั้นซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะใช้เวลา 3 เดือนในการดำเนินการและได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
"เราพบว่าตัวรถบรรทุกวิ่งไปแม้มีจีพีเอสก็เอาถังออกไปรถวิ่งไปยังจุดทิ้งก็จับไม่ได้แต่ RFID จะติดที่ตัวถังใส่ขยะอีกชั้นหนึ่งมีรหัสล็อกก็จะทำให้การลักลอบทิ้งยากขึ้นที่ผ่านมาเราก็ยอมรับว่ากำลังคนที่มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับโรงงานเราจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาจัดการซึ่งแนวทางนี้คงใช้เวลาไม่นานเพราะสามารถออกกฎกระทรวงได้ส่วนระยะยาวจะต้องแก้ไขกฎหมายคือการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น" นายณัฐพลกล่าว
กรมแพทย์แผนไทยส่ง "รางจืด" ช่วยกลุ่มเสี่ยง
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้แม้จะสามารถดับไฟไหม้บ่อขยะได้แล้ว แต่สารพิษที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ โดยเฉพาะสารพิษที่เกิดจากการฉีดน้ำดับเพลิงและไหลลงไปตามแม่น้ำลำคลอง อาจมีการปนเปื้อนสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม เป็นต้น จึงขอเตือนประชาชนระมัดระวังในการนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณรอบบ่อขยะรัศมี 1 กิโลเมตร จำนวน 500 ราย ซึ่งกรมได้ส่งนักวิชาการเข้าร่วมประชุมวอร์รูมจังหวัด และส่งทีมแพทย์แผนไทยให้ความช่วยเหลือ โดยจัดเตรียมชุดสมุนไพรกลุ่มล้างพิษ ได้แก่ แคปซูลรางจืดจำนวน 300 ขวดๆ ละ 60 เม็ด สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงกินมื้อละ 2 แคปซูล 3 มื้อต่อวัน ชาชงรางจืดสำหรับใช้ดื่มและอาบล้างสารพิษ จำนวน 600 ซอง ยาหอมและบาล์มสมุนไพรแก้บรรเทาอาการปวดเมื่อยและช่วยให้สดชื่นจากกลิ่นที่ไม่ประสงค์ จำนวน 300 ขวด
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ที่กรมนำรางจืดมาช่วยล้างสารพิษให้แก่ประชาชน เพราะมีผลวิจัยทั้งของกรมฯ โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ชี้ชัดว่า รางจืดมีสรรพคุณช่วยแก้พิษต่างๆ ได้ ทั้งยาเบื่อ ยาสั่ง ยาฆ่าแมลง พืชพิษ รวมไปถึงช่วยในการอดเหล้า อดยาเสพติดด้วย รู้จักกันดีในชื่อยาเขียว เช่น รพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี พบว่า ผู้ที่กินยาฆ่าหญ้าเกิน 1 ช้อนชา จะตายภายใน 7 วัน 100% แต่จากการใช้รางจืดผสมน้ำล้างท้องและให้กินน้ำรางจืด พบว่า ช่วยให้ผู้ป่วยรอดตายได้ถึง 50% ทุกวันนี้จึงมีการบรรจุรางจืดไว้เป็นยาบัญชียาหลัก และให้แผนกฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลมีไว้เพื่อทำการล้างท้อง
"รางจืดมีผลวิจัยชัดเจนว่าช่วยลดสารพิษในกลุ่มยาฆ่าแมลงได้ แต่พวกสารตะกั่วและแคดเมียมยังไม่มีผลวิจัยที่แน่ชัด แต่รางจืดจะช่วยปกป้องอวัยวะภายใน เช่น ตับ และสมอง ไม่ให้ถูกสารพิษเหล่านี้ทำลายไปมากยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และคาร์บอน ไดออกไซด์ก็สามารถใช้ล้างสารพิษได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคือการใช้น้ำสะอาดล้าง และใช้บัวบกป้องกันผิวจะดีที่สุด" นพ.ธวัชชัย กล่าว
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า รางจืดมีสรรพคุณ เป็นยาเย็น ดังนั้น กินแล้วอาจเกิดอาการเหน็บชา และเมื่อกินในปริมาณสูงๆ เกิน 600 มิลลิกรัม ก็จะไปลดน้ำตาลในเลือด ทำให้หิวบ่อย ซึ่งผู้ที่ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง เพราะหากกินมากไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าการกินรางจืดต่อเนื่องเกิน 6 เดือน ไม่ก่อให้เกิดพิษใดๆ ทั้งสิ้น
วันเดียวกัน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ว่า ที่ประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ยังคงมีการประชุมวางแผนการดูแลด้านสุขภาพประชาชนที่สัมผัสมลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่าง ต่อเนื่อง
ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ อบต.แพรกษา และวัดแพรกษา รวมทั้งที่โรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม-23 มีนาคม 2557 รวม 1,261 ราย ส่วนใหญ่ มีอาการระคายเคืองตา แสบคอ แสบจมูก โดยมีผู้ป่วยโรคหอบหืดและถุงลมโป่งพองอาการกำเริบ ต้องนอนพักรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ จำนวน 3 ราย เร่งกำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนที่อยู่ในรอบๆบ่อขยะ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการเจ็บป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง
นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ได้วางแผนจัดมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบเร่งด่วน 2 ด้าน คือ การเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพในคน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสัมผัสรุนแรง ได้แก่ นักผจญเพลิง พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องอยู่เฝ้าสถานประกอบการ นักข่าว วินมอเตอร์ไซค์ ประชาชนอาศัยใกล้จุดเกิดเพลิงไหม้ในรัศมี 200 เมตร 2.กลุ่มเสี่ยงปานกลาง คือ ประชาชนในรัศมี 201-1,000 เมตร และ3.กลุ่มเสี่ยงน้อย ในรัศมี 1,000 เมตรขึ้นไป โดยจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและโรงพยาบาลบางพลี จะนำเจ้าหน้าที่ พร้อมรถเอกซเรย์เคลื่อน ออกให้บริการ ตรวจเลือด และเอกซเรย์ แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบบ่อขยะ
ส่วนการเฝ้าระวังในด้านสิ่งแวดล้อม จะตรวจคุณภาพอากาศทุกวันต่อเนื่องจนถึงวันศุกร์ 28 มีนาคม 2558 และจะเก็บตัวอย่าง น้ำผิวดิน บ่อน้ำ น้ำบาดาล และเก็บตัวอย่างอาหารต่างๆ ผัก ผลไม้ ตรวจหาสารปนเปื้อน เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจแก่ประชาชน
DSI รอผลสอบก่อนรับเป็นคดีพิเศษ
พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอยังไม่สามารถรับเข้าเป็นคดีพิเศษได้ แต่รอผลพิสูจน์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า มีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมมาทิ้งในจุดเกิดเหตุหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลกรณีที่ อบต.แพรกษา เคยพบบริษัทลักลอบนำกากอุตสาหกรรมจากชลบุรีมาทิ้ง ที่บ่อขณะนี้เมื่อปี 2555 โดยดีเอสไอจะตรวจสอบคู่ขนานไปก่อน เนื่องจากจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีฝนตกเมื่อวันเสาร์ในพื้นที่บ่อขยะว่า โชคดีที่ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศมีไม่มาก ทำให้ปัญหาฝนกรดไม่รุนแรงอย่างที่วิตกกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ที่อยู่ใกล้รัศมีบ่อขยะ 200 เมตร ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน และไม่ควรใช้น้ำในภาชนะไม่ปิดฝา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 25 มีนาคม 2557
- 5 views