ไทยโพสต์ * แพทยสภาเตรียมเจรจากับ "พม." ขอแก้ พ.ร.บ.เด็กต่ำกว่า 18 ปี ตรวจหาเอดส์ได้โดยไม่ต้องอนุญาตจากผู้ปกครอง หรือฉีดยาคุมเพื่อป้องกันปัญหาแม่วัยใส แต่ให้ใช้วิธีทางการแพทย์วัดความสามารถในการรับรู้ของเด็กแทน ชี้โลกเปลี่ยนไปปัญหา 2 ด้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องหาทางรับมือด่วน
ภายหลังจากที่คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางปฏิบัติการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ดำเนินการหาแนวทางการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครอง และปรับตัวเขามาอยู่ที่ 15 ปีนั้น ล่าสุด ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า จากเดิมที่มีกฎหมายคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองนั้น กฎหมายดังกล่าวยังเป็นปัญหาทางด้านการแพทย์ โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น หรือแม้แต่การฉีดยาคุมกำเนิดเพื่อลดปัญหาการท้องไม่พร้อม ซึ่งทั้ง 2 กรณีถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่จะเห็นได้ว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น แพทยสภาจึงได้ทำเรื่องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อตัดตัวเลขอายุของเด็กออกไป
นอกจากนี้ แพทยสภายังได้หารือกันภายในคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางปฏิบัติการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยให้ออกเป็นประกาศแนวปฏิบัติของแพทยสภาเอง แต่ยังมีข้อถกเถียง และกลุ่มนักกฎหมายยังไม่เห็นด้วยกับแนวปฏิบัติดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการทำออกมาเพื่อป้องกันแพทย์ถูกฟ้องร้องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ตัวแทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เข้ามาเป็นอนุกรรมการฯ เป็นคนไปหารือกับทาง พม. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตอบ
"พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่ผ่านมาแม้มีเพื่อผลประโยชน์ของเด็ก เพื่อคุ้มครองเด็ก ความปลอดภัย แต่เนื่องจากระบุเรื่องอายุเอาไว้ ทำให้เป็นปัญหาตามมา ซึ่งทางแพทยสภาเร่งดำเนินการขอแก้ไขไม่ให้ระบุตัวเลขอายุเอาไว้ เพราะทำให้ความยืดหยุ่นน้อย แต่ให้ดูเรื่องความสามารถในการรับรู้เหมือนกับในต่างประเทศ ซึ่งวิธีการทางการแพทย์จะมีวิธีการทดสอบอยู่แล้ว ไม่ใช่เอาตัวเลขเป็นหลัก เรากำลังขอให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถดำเนินการได้" ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้คลินิกวัยรุ่นไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะติดปัญหาที่ผู้ปกครองตามเด็กไปด้วยตลอด แต่เด็กไม่อยากให้พ่อแม่รู้ จึงแก้ปัญหาด้วยการให้ไปตรวจที่คลินิกนิรนามแทน แต่ก็ยังมีปัญหาอีกว่าเมื่อตรวจพบผลเลือดเป็นบวกแล้วต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ โดยทางคลินิกอยากให้เด็กเป็นคนบอกเอง แต่เด็กก็ยังไม่กล้าบอก เพราะกลัวถูกทำโทษ กลัวพ่อแม่ไม่เข้าใจ ที่สำคัญคือยังพบว่าผู้ปกครองบางรายยังบังคับคนรักหรือคู่นอนไปตรวจแทนลูกของตัวเองด้วย นี่ถือว่าผิดมาก ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการให้ความรู้กับผู้ปกครอง กับประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ว่าหากติดเชื้อเอชไอวีแล้วสามารถรักษาได้ เมื่อลูกทำผิดพลาดไปแล้วต้องช่วยกันให้กำลังใจ ต้องเห็นใจ และประคับประคองให้อยู่ในสังคมได้ตามปกติ และไม่ติดต่อไปยังคนอื่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 25 มีนาคม 2557
- 215 views