กรมการแพทย์เตือนพิษภัยของสุราเป็นสารเสพติดทำลายสมองและร่างกายระยะยาว เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนมากมายชี้เพศชายติดสุรามากกว่าหญิงหลายเท่าแนะหาที่พึ่งพาทางใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง
เมื่อวันที่ 24 มี.ค.57 ที่สถาบันธัญญารักษ์ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดอบรมหลักสูตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยเสพติดสุราว่า สุราเป็นสารเสพติดที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ถึงแม้ว่าหลายหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์ถึงโทษพิษภัยของสุรา และรณรงค์ไม่ให้ประชาชนดื่มสุรา เนื่องจากสุราเป็นสารเสพติดที่ทำลายสมองและร่างกายของผู้ที่ดื่มในระยะยาว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย เช่น โรคตับแข็ง ตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคจิตจากการติดสุรา ชักจากการเสพติดสุรา โรคเพ้อคลั่งโรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร จากสถิติของสถาบันธัญญารักษ์ปี 2556 พบว่า มีผู้ป่วยเสพติดสุราที่เข้าบำบัดรักษาจำนวน 1,388 รายเป็นเพศชายร้อยละ 89.05 และเป็นเพศหญิงร้อยละ 10.95
กรมการแพทย์ โดยสถาบันธัญญารักษ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดจึงมีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และทักษะการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแก่พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรทางสาธารณสุข โดยมุ่งให้ผู้เสพยาและสารเสพติดได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขและป้องกัน ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติและยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขคือ การลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติดและช่วยให้ผู้ติดยาเหล่านั้น ไม่หวนกลับไปเสพซ้ำและสามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างถาวร รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพ/ผู้ติดรายใหม่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสุราไว้ว่า ความชุกของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรอายุ 15-19 ปี ต้องไม่เกินร้อยละ13 เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยที่ติดสุราจำเป็นต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคอาการแสดงในผู้ป่วยที่ขาดสุรา และผู้ป่วยที่ได้รับสุราเกินขนาด รวมทั้งอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยเสพติดสุรา คือ อาการสมองเสื่อม ความคิด ความจำ การตัดสินใจช้ากว่าปกติ ซึ่งอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ ต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพค่อนข้างนานคือ การฟื้นสมรรถนะทางสมองในผู้ป่วยเสพติดสุราการบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพติดสุรา เภสัชวิทยาของสุราและการออกฤทธิ์ของสุราต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ การฟื้นกระบวนการคิดและการดำเนินกิจกรรมกลุ่มบำบัดสำหรับผู้ป่วยเสพติดสุรา ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ทางทฤษฎี ร่วมกับทักษะและประสบการณ์จากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งต้องมีการนำครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีความเข้มแข็งและสามารถดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่องสำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงการเสพติดสุรา ได้แก่การตั้งใจจริงตั้งเป้าว่าจะเลิกสุรา เพื่อใคร เพราะเหตุใดปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่มเช่น เปลี่ยนขนาดของแก้วให้เล็กลงตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณการดื่ม หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆเช่น สถานการณ์สถานที่ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ดื่มสุราได้ง่ายขึ้นฝึกปฏิเสธให้เด็ดขาดเมื่อมีเวลาว่างให้ทำกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์แทนการดื่มสุรา เช่น ออกกำลังกายอ่านหนังสือ ฟังเพลง รวมทั้งหาที่พึ่งพาทางใจและกำลังใจจากคนรอบข้างและปรึกษาสายด่วนยาเสพติด สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ โทร. 1165
- 6 views