ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า สาเหตุที่การเสพติดบุหรี่เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนอายุ 20 ปี เพราะการเติบโตและการพัฒนาของสมองส่วนหน้าที่สุดเกิดขึ้นช้ากว่าสมองส่วนอื่นและจะพัฒนาเต็มที่หลังจากอายุ 20 ถึง 25 ปีไปแล้ว
โดยสมองส่วนหน้าทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดอย่างมีเหตุผล ความสามารถในการรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำในปัจจุบัน ความสามารถในการเลือกพฤติกรรมที่ดีกับที่ไม่ดี ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับและการปรับอารมณ์ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ทำให้คนสามารถที่จะมีการตัดสินใจที่ดีในการแก้ปัญหาหรือในการตัดสินใจกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันทำให้สมองส่วนหน้านี้ทำหน้าที่ปรับความสมดุลระหว่างการตอบสนองตามสัญชาตญาณ แรงผลักดันจากภายใน และปฏิกิริยาทางอารมณ์กับการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งการที่สมองของคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือวัยรุ่นยังอยู่ในระหว่างการเติบโตนี่เอง วัยรุ่นจึงมีความเสี่ยงต่อการตอบสนองทางอารมณ์ ทำให้อาจจะทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ได้คิดถึงสิ่งที่จะเป็นผลตามมาจากการกระทำนั้น ๆ
จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของสมองวัยรุ่นจนถึงเป็นผู้ใหญ่นี้ อธิบายว่าทำไมวัยรุ่นจึงเข้าไปทดลองสูบบุหรี่ จนเกิดการเสพติดขึ้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าบุหรี่มีอันตรายมากมาย จากการเลียนแบบผู้ใหญ่ในบ้าน ดารานักแสดง การชักชวนของเพื่อน และการโฆษณาและส่งเสริมการขายบริษัทบุหรี่ ทั้งนี้อายุการเริ่มเสพติดบุหรี่ของวัยรุ่นทั่วโลกอยู่ที่ 16 ถึง 18 ปี และวัยรุ่นไทยเฉลี่ยเสพติดบุหรี่ที่อายุ 17.4 ปี และประมาณร้อยละ 80 ถึง 90 ติดบุหรี่ก่อนอายุ 20 ปีและคนที่ติดบุหรี่หลังจากอายุ 25 ปีไปแล้ว มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าวประเทศต่าง ๆ จึงได้เพิ่มอายุที่ห้ามขายบุหรี่แก่ผู้ที่อายุ 18 ปี หรือต่ำกว่าเป็นอายุ 20 ปี ส่วนพ่อแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น ที่จะต้องดูแลลูกในวัยนี้อย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำ พร่ำสอนและตักเตือนตลอดช่วงระยะเวลาที่ลูกเป็นวัยรุ่น ไม่ให้หลงทางไปติดบุหรี่ อบายมุขอื่น หรือพฤติกรรมนิสัยที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ ทั้งนี้บริษัทบุหรี่ได้พุ่งเป้าการตลาดไปที่วัยรุ่นมานานแล้ว เอกสารภายในของบริษัทบุหรี่ที่บันทึกไว้ว่า “ถ้าเราหยุดทำการตลาดไปยังวัยรุ่น ธุรกิจของเราจะล้มละลายใน 20 ถึง 30 ปี เพราะจะไม่มีลูกค้าพอที่ธุรกิจจะอยู่ได้” สะท้อนเจตนาของบริษัทบุหรี่ได้อย่างหมดเปลือก ศ.นพ.ประกิต กล่าวในที่สุด
- 1013 views