กรมควบคุมโรคจัดกิจกรรมรณรงค์ 'วันวัณโรคสากล' 24 มี.ค.57 เฉลิมพระเกียรติในหลวง สืบสานพระเมตตา เพื่อค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรค ระบุยังมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษา 20,000 ราย

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน "วันวัณโรคสากล (World TB day : 24 มีนาคม 2557)” ว่า ประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 22 ประเทศของโลก ที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูง ซึ่งในปี 2555 ประเทศไทยมีการตรวจพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภท 60,000 ราย ในขณะที่องค์การอนามัยโลกประมาณการ 80,000 ราย ซึ่งหมายความว่า ยังมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการบริการอีกประมาณ 20,000 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคในแรงงานต่างด้าวถึง 2,333 ราย ผู้ต้องขังในเรือนจำ พบผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 1,751 ราย ในขณะที่อัตราผลสำเร็จการรักษาโดยรวมร้อยละ 84 กรมควบคุมโรคจึงกำหนดมาตรการจุดเน้นและกรอบการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรควัณโรค ในปี 2557 ซึ่งมีแนวทาง คือ “เร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยา” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0” และถ้าประเทศไทยถึงจุดนี้ได้ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษาครบ 86 พรรษา ในปี 2556 และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสาธารณสุขไทย และทรงรับพระราชกรณียกิจงานวัณโรค โดยทรงมีพระเมตตาช่วยเหลือและสนับสนุนงานกิจกรรมต่อต้านวัณโรคมากกว่า 60 ปี เพื่อสืบสานพระเมตตาดังกล่าวและเผยแพร่ให้ปวงชนชาวไทยได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจด้านวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จึงจัดกิจกรรมรณรงค์วันวัณโรคสากล ในส่วนของประเทศไทย ปี 2557 เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้ความรู้ ตลอดจนค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรค ในประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 86 พรรษา จึงได้จัดโครงการ “เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตา เพื่อค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรค" โดยใช้ชื่องาน “เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตา เพื่อเมืองไทยปลอดวัณโรค” โดยจะเน้นในประชากร 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) พนักงานขับรถยนต์ขนส่งสาธารณะ รถแท็กซี่ รถตู้ขนส่งผู้โดยสาร จำนวน 500 คน 2) ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง ผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตที่ถูกญาติทอดทิ้งและคนพิการ 41 แห่ง จำนวน 8,600 คน 3) ผู้ต้องขังในเรือนจำ 82 แห่ง

"อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการของวัณโรค โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังเกินกว่า 2 อาทิตย์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด บางคนยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรคหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่สำนักวัณโรค โทร 02-212-2279 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว