“หมอประดิษฐ” เสนอแก้ปัญหาระยะสั้น กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะ 9.5 หมื่นคน ที่ถูกต้องอยู่ในกองทุนคืนสิทธิ์ของสธ. แต่ติดปัญหาตรงฐานข้อมูล ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพแบบแรงงานต่างด้าวไปก่อน ด้านเอ็นจีโอจี้กางข้อมูลรายชื่อชัดๆ สธ.และสปสช.ต้องปรับฐานข้อมูลใหห้ตรงกัน เสนอสปสช.หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ บริหารกองทุนคืนสิทธิจะดีกว่า

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการดูแลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะจำนวน 95,071 คน ที่ถูกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถอดสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งตามหลักต้องเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิของ สธ. แต่กลับไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของ สธ.ทำให้ไม่สามารถรับการรักษาพยาบาลได้ ว่า แม้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะระบุว่า สปสช.ต้องดูแลเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ในเรื่องการรักษาพยาบาลคนกลุ่มดังกล่าวก็ต้องให้การบริการรักษาด้วย เพราะเป็นเรื่องของหลักมนุษยธรรม ซึ่งปัญหาที่ว่ากลุ่มคนดังกล่าวยังไม่มีรายชื่ออยู่ในกองทุนคืนสิทธินั้น ทั้งที่ตามหลักแล้วต้องอยู่ การแก้ปัญหาในระยะสั้นตอนนี้ อาจต้องให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพเหมือนแรงงานข้ามชาติ เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา ไปก่อน
       
“ที่ต้องให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ เพราะเมื่อยังพิสูจน์สถานะไม่ได้ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนไทย จึงควรใช้มาตรการนี้ไปก่อน ซึ่งบัตรประกันสุขภาพราคาประมาณไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งราคานี้คือจ่ายครั้งเดียวแล้วใช้ได้ทั้งปี ไม่ใช่ว่าต้องเสียประมาณ 3,000 บาททุกครั้งที่ไปรับบริการ ส่วนในระยะยาวที่ต้องทำก็คือ กระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติและสถานะต่อไป โดยสรุปคือต้องแยกแยะให้ได้ก่อนว่าเป็นสถานะไหน และต้องมีกระบวนการในการแยกแยะ” นพ.ประดิษฐ กล่าว
       
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ทุกอย่างก็ต้องให้เป็นไปตามระบบ โดยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ดูแลเฉพาะคนไทย หากเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายบางส่วนก็จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมอยู่แล้ว ส่วนที่ลักลอบเข้ามาและที่เหลือก็ต้องกระตุ้นให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเรายังไม่มีนโยบายทำประกันให้ ก็จะใช้วิธีเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ หรือบางส่วนอาจจะซื้อผ่านประกันเข้ามาเอง
       
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ตนนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาว่า ตัวเลขจริงๆ กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะที่หลงเหลือในระบบบัตรทองมีจำนวนเท่าใด และเหตุใดเมื่อส่งมอบให้ สธ.ดูแลตามกองทุนคืนสิทธิแล้วจึงยังมีปัญหา ปรากฎว่าตัวแทน สธ.ไม่ได้เข้าร่วมประชุม จึงหารือในบอร์ด สปสช.ว่า ควรมีการกางข้อมูลตัวเลขและรายชื่อให้ชัดเจนว่า มีคนกลุ่มดังกล่าวเท่าใดในกองทุนคืนสิทธิ และมีอีกเท่าไรที่อยู่นอกกองทุนฯ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมอบให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญดูแล คือ สปสช.เพราะมีประสบการณ์ในการบริหารกองทุนหลักประกันฯ และกองทุน อปท. ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น หากมาบริหารกองทุนคืนสิทธิ ซึ่งใช้งบเพียงปีละ 900 ล้านครอบคลุม 450,000 คนจึงไม่น่ามีปัญหา หรือหากมีคนรอพิสูจน์สถานะตกหล่น และเพิ่มเข้ามาก็เชื่อว่าจะสามารถบริหารได้
       
“เบื้องต้น นพ.ประดิษฐ ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้นัดประชุมบอร์ด สปสช.อีกครั้งในวันที่ 9 เม.ย.เพื่อหารือประเด็นดังกล่าวว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนความเป็นไปได้ที่จะให้ สปสช.เป็นผู้บริหารนั้นต้องพิจารณาว่าจะทำได้หรือไม่ โดยพิจารณาอำนาจทางกฎหมายเป็นสำคัญ เนื่องจากเดิมที สปสช.เป็นผู้ผลักดันกองทุนคืนสิทธิ แต่ปรากฎว่าถูกท้วงติงว่าไม่สามารถบริหารได้ เพราะมีอำนาจบริหารกองทุนเฉพาะคนไทยเท่านั้น จึงต้องมาพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง” นายนิมิตร์ กล่าว