สปสช.ยันทำหนังสือแจ้งสธ.เรื่องปรับฐานข้อมูลคนไร้สถานะ 95,071 คน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.56 แล้ว แต่ยังไม่ได้คำตอบจากสธ. ชี้สิทธิการรักษาพยาบาลกลุ่มคนไร้สถานะ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และครม.มีมติให้สธ.ดูแล ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการประสานงานระหว่างสธ.และสปสช.ทำให้ฐานข้อมูลไม่ตรงกัน ส่งผลสธ.ไม่สามารถรับคนเพิ่มในกองทุนคืนสิทธิได้
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า เรื่องการดูแลกลุ่มคนไร้สถานะและสิทธินั้น สปสช. ได้ทำหนังสือแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2556 โดยส่งรายละเอียดให้ทั้งหมดทั้งรายชื่อและรายละเอียดต่างๆ แต่ยังไม่เคยได้รับหนังสือยืนยันจากทางสธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ตั้งแต่ที่ครม.มีมติ 23 มี.ค.2553 ให้มีการตั้งกองทุนคืนสิทธิการรักษาพยาบาลกลุ่มคนไร้สถานะ จำนวน 4.5 แสนคน และมอบให้สธ.เป็นผู้ดูแล เนื่องจากมีการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สปสช.ดูแลได้เฉพาะกลุ่มที่เป็นสัญชาติไทยเท่านั้น กลุ่มคนที่ยังรอการพิสูจน์สถานะและสิทธิ์จึงต้องให้สธ.ดูแลสิทธิด้านการรักษาพยาบาลไปก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์สิทธิ์เป็นคนไทย
นพ.วินัย กล่าวว่า ในช่วงแรกปี 53-54 สปสช.และสธ.มีการประสานเพื่อจัดทำฐานข้อมูลระหว่างกันตลอด เพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานพยาบาลและผู้เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบสิทธิให้ตรงกันทั้งหน้าเวบไซต์ของสปสช.และสธ. และเพื่อใช้ในการเบิกใช้ยาที่สปสช.จัดระบบไว้ โดยดำเนินการผ่านระบบของสปสช.เพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานพยาบาล โดยสปสช.จะนำส่งข้อมูลให้สธ.เอง แต่หลังจากนั้นในปี 55-56 การประสานจัดส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานข้อมูลผู้มีสิทธิของกลุ่มบุคคลที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิระหว่างสปสช.และสธ.ไม่ตรงกัน และเกิดปัญหาการให้บริการต่อประชาชน
ด้วยเหตุนี้ สปสช. และกลุ่มงานประกันสุขภาพ สธ.จึงได้มีการประชุมร่วมกับสำนักทะเบียนราษฎร์ โดยทั้งสปสช. และสธ.ได้ส่งฐานข้อมูลมีอยู่ให้ทางทะเบียนราษฎร์ตรวจ ซึ่งพบว่า สปสช. มีฐานข้อมูลประชากรในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตรงตามมติครม. 23 มีนาคม 2553 แต่ปัจจุบันยังไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 95,071 คน จึงต้องนำฐานข้อมูลตรงนี้ออกจากฐานข้อมูลของสปสช. และไปเพิ่มในฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงสธ.และขอให้ปรับฐานในปี 57 พร้อมทำหนังสือแจ้งไป แต่ทางกระทรวงสธ.ยังไม่ได้ปรับฐาน แต่ส่งมาเป็นรายๆ เฉพาะที่ต้องการใช้ยาต้านไวรัส ยาจ. 2 ทำให้ผู้มีสิทธิ์รู้สึกว่าตัวเองหมดสิทธิประกันสุขภาพโดยไม่มีหน่วยงานรองรับ และเกิดเป็นปัญหาร้องเรียนขึ้นมา
“ดังนั้น จึงขอเรียนชี้แจงว่า กลุ่มคนไร้สถานะที่สปสช.ส่งให้กองทุนคืนสิทธิฯคนไร้สถานะที่สธ.ดูแลนั้น มีจำนวน 95,071 คน ไม่ใช่ 200,000 คน ตามที่เป็นข่าว และกลุ่มคนไร้สถานะกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาในการรักษาพยาบาล เพราะมีคุณสมบัติตรงตามมติครม. 23 มีนาคม 2553 สามารถเข้าไปอยู่ในกองทุนคืนสิทธิฯ ที่สธ.ดูแลได้ทันที สปสช.ไม่ได้ตัดสิทธิกลุ่มคนไร้สถานะ แต่สปสช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลกลุ่มคนไร้สถานะนี้ เพราะตามมติครม. 23 มีนาคม 2553 ให้สธ.ทำหน้าที่ดูแลกลุ่มคนที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิ” เลขาธิการสปสช. กล่าว
นพ.วินัย กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว สิทธิการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน คนกลุ่มนี้แม้จะไม่ได้รับการดูแลจากสปสช. เพราะเป็นกลุ่มคนไร้สถานะ แต่ก็ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเมื่อเปลี่ยนสิทธิ์ไปอยู่กองทุนคืนสิทธิ์ฯที่สธ.ดูแล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ครม.มีมติไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อสปสช.ทำหนังสือแจ้งไป สธ.บันทึกข้อมูลเข้ากองทุนคืนสิทธิฯ คนกลุ่มนี้ก็จะได้รับการรักษาตามเดิม ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่มีปัญหาเพราะสธ.ไม่มีความชัดเจนเรื่องฐานข้อมูล จึงทำให้นำคนกลุ่มนี้เข้ากองทุนคืนสิทธิไม่ได้
- 11 views