เอ็นจีโอเผยสปสช.ลอยแพผู้ป่วยไร้สถานะ 2 แสนคนไร้สิทธิรักษาพยาบาล พร้อมร้องกรรมการสิทธิฯ ขอความเป็นธรรม ขณะที่สปสช.ยันทำถูกต้องตามระบบ เพราะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะตามปกติ เหตุกฎหมายไม่รองรับดูแลคนไม่ใช่สัญชาติไทย แต่มติครม.ให้สธ.ดูแลกลุ่มคนไร้สถานะนี้แทน สธ.ทำหนังสือเวียนถึงรพ.ทั่วประเทศต้องรับผู้ป่วยทุกกรณี หลังมีปัญหาคนไร้สถานะกลุ่มใหม่ไม่ได้เข้ากองทุนคืนสิทธิในทันที ส่งผลผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคล หรือกลุ่มคนไร้สถานะ ว่าไม่สามารถรับบริการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ ทั้งๆที่เดิมทีรักษาอยู่ในระบบมานานมากกว่า 10 ปี โดยทางโรงพยาบาลให้เหตุผลว่า จากการตรวจสอบสถานะทางบุคคล ไม่พบเลขบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้อีก ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลกันเอง ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบทั้งหมดปรากฏว่า กลุ่มคนที่มีปัญหาทางสถานะและถูกลอยแพจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีจำนวนกว่า 200,000 คน
นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ตนได้เข้าไปหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และตัวแทนสปสช.ถึงปัญหาดังกล่าว ทำให้ทราบว่าสปสช. ได้มีการตรวจสอบตัวเลขบุคคลไร้สถานะที่ไม่สามารถใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 และได้ถอดสิทธิบุคคลเหล่านี้ไปแล้ว โดยในจำนวนกว่า 200,000 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นชาวเขา ชาวม้งตามพื้นที่ต่างๆประมาณ 99,000 คน กลุ่มที่ 2 เป็นอากง อาม่า กลุ่มคนสูงอายุเชื้อสายจีนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 50-60 ปีอีก 50,000 คน นอกนั้นอีกประมาณ 60,000 คนไม่มีข้อมูลว่าเป็นใครมาจากไหน ปัญหาคือ กลุ่มที่สามารถติดตามได้คือ 2 กลุ่มแรก แต่เมื่อพวกเขาถูกถอดสิทธิโดยไม่รู้ตัว ภาครัฐโดย สธ. และสปสช.ต้องรับผิดชอบ โดยต้องคุ้มครองพวกเขาด้วย ซึ่งจากการหารือทางกระทรวงสาธารณสุข รับปากว่าจะทำหนังสือเวียนสั่งโรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมด แต่ที่ห่วงคือ กังวลว่าเรื่องนี้จะเงียบหายไป เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็มีภาระค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว หากไม่มีเครื่องยืนยัน ทางโรงพยาบาลอาจไม่รับรักษาก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้พวกตนได้ร้องไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว เนื่องจากเกี่ยวกับหลักมนุษยธรรมเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยข้อเท็จจริงกลุ่มคนไร้สถานะ แม้จะถือว่าเป็นคนไทย แต่เมื่อไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ก็ไม่สามารถเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว นายวิวัฒน์ กล่าวว่า มองได้สองมุม แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่กลุ่มคนไร้สถานะนั้น เป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยมานานกว่า 40-50 ปี และอยู่ระหว่างรอเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งระหว่างรอนั้น ที่ผ่านมายังได้รับสิทธิรักษาพยาบาลจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอยู่ อาจเพราะภาครัฐอนุโลมเนื่องจากอยู่ระหว่างรอเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเพราะยังไม่มีระบบตรวจสอบที่ดีพอ แต่เมื่อมีการตรวจสอบก็จะให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิ หรือกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับคนไร้สถานะ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดงบประมาณไว้ทุกๆปี ปีละ 900 ล้านบาท แต่สำหรับคนเพียง 400,000 คน ดังนั้น ย่อมไม่เพียงพอ เพราะอย่าลืมว่าเมื่อมีกลุ่มคนไร้สถานะเพิ่มขึ้นอีก 200,000 คน จะหางบประมาณจากไหน นั่นก็เป็นปัญหาที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ต้องดำเนินการอีก แต่ไม่ว่าระบบจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้พวกเขามีสิทธิรักษาพยาบาล อย่าปล่อยพวกเขาลอยแพ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากระบบการตรวจสอบทะเบียนราษฎร์ที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าตัวเลขผู้ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลใดๆมีประมาณ 200,000 คน แต่ทางสปสช.ระบุว่ามีเพียง 99,000 คน เนื่องจากตัวเลขอื่นๆมีการซ้ำซ้อนสิทธิ รวมทั้งติดตามไม่ได้บ้าง ซึ่งตรงนี้จะมีการหารือกันอีกครั้งเพื่อจัดระบบให้ตรงกัน
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุชัดเจนให้สปสช.ทำหน้าที่ดูแลคนไทยที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งในกรณีนี้กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะถือว่ายังไม่ได้เลขบัตรประชาชน ก็ไม่อยู่ในอำนาจที่ สปสช.ดูแลได้ เพราะไม่ได้งบประมาณมาในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม การที่สปสช.ตรวจสอบสถานะผู้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการปกติ ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่ามีบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยจำนวนหนึ่ง ก็ได้ส่งเรื่องให้กับทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อนำคนเหล่านี้เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิหรือกองทุนรักษาพยาบาลกลุ่มรอพิสูจน์สถานะทางบุคคล โดยทำเรื่องส่งข้อมูลให้สธ.ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 ดังนั้น สธ.จะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ จึงไม่แน่ชัดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร
“จริงๆแล้วระบบสปสช.ตรวจสอบพบว่าผู้ไม่มีสถานะอยู่ที่ 99,000 คนตามที่ตรวจสอบได้ ส่วนตัวเลข 200,000 คนต้องไปสอบถามทาง สธ.ว่าแบ่งเป็นกลุ่มไหนอย่างไร แต่จากการตรวจสอบตัวเลข 99,000 คนที่จะต้องเข้าสู่กองทุนคืนสิทธินั้น ถือว่าไม่มีปัญหา สธ.รับมือได้ เนื่องจากปัจจุบันกองทุนคืนสิทธิดูแลคนกลุ่มนี้ประมาณ 400,000 คน และพบว่ามีประมาณ120,000 คนได้รับสถานะแล้ว ดังนั้นตัวเลข 99,000 คนที่เข้าไปแทนที่ย่อมไม่น่าจะมีปัญหา” นพ.วินัย กล่าว
นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กรณีที่มีการร้องเรียนปัญหาต่างๆ นั้น อาจเพราะด้วยระบบยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้วตัวเลขผู้ไม่มีสถานะและไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลใดๆ โดยระบบจะต้องถูกจับเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิทันที แต่เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการ ทำให้คนที่ไปรักษาพยาบาลไม่สามารถรับบริการได้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้ทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทั้งหมดให้รับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องสถานะ และทำการรักษาพยาบาลทุกกรณี จากนั้นค่อยทำเรื่องเคลมค่ารักษาพยาบาลกันภายหลัง ทั้งนี้ หากพบว่ามีโรงพยาบาลใดไม่รับรักษาขอให้แจ้งมาที่กลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 0 2590 1575, 0 2590 2416
- 146 views