มติชน - เมื่อวันที่ 4 มีนาคม รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) เปิดเผยว่า หลังจากที่ศูนย์ประสานงานได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้โมเดลกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับพนักงานมหาวิทยาลัยกว่า 100,000 คน โดยขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกจากระบบกองทุนที่มหาวิทยาลัยจัดให้โดยความสมัครใจนั้น ล่าสุดศูนย์ประสานงานได้ระดมความคิดเห็นจากบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 200,000 คน พบว่ายังสนับสนุนให้ สปสช.ดำเนินการสานต่อเรื่องนี้ เนื่องจากหลายคนกังวลในสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล เพราะปัจจุบันมีข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 30 จาก 200,000 คนทั่วประเทศ นอกนั้นเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น และคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจำนวนข้าราชการจะหมดไป เหลือเพียงพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบหลากหลาย ทั้งสิทธิประกันสังคม (สปส.) ทั้งซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน แต่จะไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการอีก
"จุดนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต และหลายคนก็ไม่ต้องการอยู่ในสิทธิประกันสังคม แต่ต้องการให้ สปสช.เข้ามาบริหารจัดการกองทุนให้เหมือนกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของ อปท. โดยในเร็วๆ นี้จะเดินทางขอเข้าพบเลขาธิการ สปสช. เพื่อหารือในการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว" รศ.วีรชัยกล่าว
รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า อยากให้ สปสช.เข้ามาดำเนินการให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศคล้ายกับ อปท. ในลักษณะตามความสมัครใจ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยมีความมั่นคงด้านฐานเงินเดือนสูงกว่าเกณฑ์ปกติ 1.5-1.7 เท่า และคิดว่า สปสช.จะบริหารจัดการไม่ยาก
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 6 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 5 views