มติชน - ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ขณะนี้ในแวดวงสาธารณสุขมีการพูดถึงกรณีตัวอย่างของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ หรือ NHS ที่เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่าอาจจะเกี่ยวพันกับบริษัทยาระดับโลก หลังจากที่ผู้บริหารของ NHS ได้ให้บริษัทล็อบบี้ยิสต์ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับบริษัทยาชั้นนำระดับโลกเขียนรายงานนโยบายสุขภาพให้ NHS ว่า กรณีดังกล่าวมีการพูดกันมากในแวดวงสาธารณสุขว่า เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ คือ น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศไทยได้ เนื่องจากประเทศไทยมีกองทุนสุขภาพภาครัฐถึงสามกองทุน แต่ละกองทุนก็ต้องมีคณะกรรมการ (บอร์ด) คอยทำงาน น่าสนใจว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด
ผศ.ภญ.นิยดากล่าวว่า อย่างกรณีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อยู่แล้วว่าให้มีการเลือกภาคประชาชนเข้าร่วม และทุกภาคส่วน แต่ปัญหา คือ มีระบบในการตรวจสอบบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือไม่ว่า ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบอร์ดอื่นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสุขภาพของรัฐหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ควรมีระบบตรวจสอบชัดเจน โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม คณะกรรมการบริหารกองทุนดูจะไม่มีใครทราบการทำงานเลย ถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่ต้องปฏิรูปเพื่อให้มีความโปร่งใส นอกจากนี้ กรณีคณะกรรมการยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ไม่ใช่กองทุนสุขภาพภาครัฐ ก็ยังเปิดช่อง ทั้งๆ ที่ไม่ควรมีด้วยซ้ำ โดยการออกประกาศเพิ่มเติมในเรื่องข้อกำหนดของกรรมการในสัดส่วนของผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบุชัดให้มีผู้แทนจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ และอุตสาหกรรมยาในประเทศ เกิดคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีใครทำกัน เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งหากต้องการให้รับทราบผลการประชุม หรือการออกประกาศใดๆ ก็น่าจะทำเพียงเรียกพบเข้าชี้แจง หรือการระดมความคิดเห็นน่าจะเหมาะสมกว่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557
- 2 views