สปสช.ลงนามความร่วมมือกับสคบ. พัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพร่วมกัน เผยภารกิจที่สำคัญของสปสช.นอกจากการสร้างหลักประกันสุขภาพ คือการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ชี้ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้มีการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในรพ. จะเป็นศูนย์แจ้งเตือนสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพสายด่วน บุคลากร งานวิชาการ และพัฒนาเป็นเครือข่ายระดับประเทศต่อไป
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ณ โรงแรมริชมอนท์ จ.นนทบุรี มีพิธีลงนามความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยนายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสคบ. และนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ซึ่งวัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกเครือข่าย
เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า นอกจากการดำเนินการสร้างและพัฒนาหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนแล้ว สปสช. มีหน้าที่ตามมาตรา 26 (8) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ เพื่อให้ประชาชนรับรู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิ และได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย สปสช.ได้จัดกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์แบบครบวงจร เพื่อการคุ้มครองสิทธิ์ ครอบคลุมทุกจังหวัด ได้แก่ โทรศัพท์สายด่วนสปสช. 1330, เวบไซต์สปสช. (www.nhso.go.th), สปสช.สาขาเขต13 เขต, สปสช.สาขาจังหวัด 76 จังหวัด, หน่วยรับเรื่องอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน, ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล, ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และประสานเชื่อมต่อข้อมูลเรื่องร้องเรียน
“ดังนั้น เพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมและทั่วถึง สปสช. จึงลงนามความร่วมมือกับสคบ. เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการ และได้รับความปลอดภัยในการใช้สินค้าหรือบริการ” เลขาธิการสปสช. และว่า ที่ผ่านมาสปสช. ได้รับการประเมินจากโครงการพัฒนารูปแบบกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคในอาเซียน คณะกรรมการอาเซียนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ASEAN Committee on Consumer Protection : ACCP) ว่า กระบวนการการรับเรื่องร้องเรียนของสปสช. ดีในระดับต้นๆเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังได้รับรางวัลองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๕๖ ของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) อีกด้วย
ด้านนายอำพล กล่าวว่า สำหรับการลงนามในครั้งนี้ สคบ.และสปสช. จะมีความร่วมมือที่สำคัญ คือ สนับสนุนให้ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล เป็นศูนย์แจ้งเตือนสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพร่วมกับเทศบาลและอบต. พัฒนาศักยภาพสายด่วนร่วมกัน เชื่อมโยงฐานข้อมูล งานวิชาการ ประสานเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ระหว่างกัน รวมถึงการจัดประกวดผลงานดีเด่นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนางานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเครือข่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป
- 19 views