แนวหน้า - ประเทศไทยมีโปรตีนกาวไหมอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นผู้ผลิตไหมอันดับต้นๆของโลกหากนำมาแปรรูปใช้ประโยชน์ได้ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบและสามารถลดมลภาวะได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษในการสร้างคอลาเจน และสามารถช่วยให้ร่างกายเร่งการสมานแผลได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับสามารถต้านการอักเสบของแผล ลดอาการปวด บวม แดงได้อีกด้วย
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของโครงการการพัฒนาแผ่นโปรตีนเส้นไหมเคลือบด้วยสารมีฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้ในการรักษาแผล ของรองศาสตราจารย์ ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จนได้รับรางวัล Grand Prize จาก Korea Invention Promotion Association: KPA และได้รับรางวัล Special Prize, TIA: Taiwan Invention Association จากประเทศไต้หวัน ในงาน Seoul International Invention Fair
รองศาสตราจารย์ ภญ.ดร.พรอนงค์ เจ้าของโครงการฯ กล่าวว่า เหตุที่คิดโครงการนี้ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ซึ่งคนกลุ่มนี้แผลจะหายยาก อีกทั้งแผ่นปิดแผลส่วนใหญ่จะมีคุณสมบัติเพียงแค่ป้องกันการกระแทกของบาดแผลเท่านั้นและไม่สามารถช่วยเร่งให้แผลหายเร็ว จึงคิดว่าถ้าสามารถวิจัยหาสารหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยเร่งการหายของแผลให้เร็วขึ้นได้ ก็น่าจะทำให้ปากแผลปิดสนิทได้เร็วขึ้นและลดการติดเชื้อบาดแผลซึ่งจะสามารถช่วยลดการเสียชีวิตได้มากขึ้น และนอกจากนี้หลักการของโครงการฯก็เพื่อจะนำเอาวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ในประเทศไทย นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากในบ้านเรานั้นเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีวัตถุดิบทางการเกษตรเหลือใช้อยู่มาก ทั้งนี้จึงได้นำน้ำกาวไหม ซึ่งเป็นอีก 1 วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว เนื่องจากการทำน้ำกาวไหมนั้นจะใช้เพียงแค่นำมาต้มรังไหม แต่เมื่อได้นำเอาน้ำกาวไหมนี้ไปวิเคราะห์ดูแล้ว พบว่า มีโปรตีนอยู่มาก และมีคุณสมบัติในการสมานแผลได้
ปัจจุบันน้ำกาวไหม มีราคาอยู่ที่ลิตรละ 15 – 16 บาท เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรรู้แล้วว่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ แต่ต้องมีการเก็บรักษาที่ถูกต้อง เพราะในน้ำกาวไหมนั้น มีโปรตีนมากซึ่งถ้าไม่มีความรู้ หรือ เก็บรักษาผิดวิธีจะทำให้เน่าและไม่สามารถนำมาใช้ได้ ในเบื้องต้นนั้น โดยวิธีเก็บรักษาน้ำกาวนั้นก็คือ ต้องไม่ใช้หม้อต้มและน้ำต้มซ้ำอีกรอบ หรือ ใช้เพียง 1 หม้อ/1วัน ห้ามนำน้ำที่ต้มแล้ว ไปต้มอีกในวันถัดไป หลังจากที่ใช้เสร็จแล้วก็ให้นำน้ำไปเก็บไว้ในที่เย็น ซึ่งจะทำให้น้ำกาวไหมคงคุณภาพ ไม่เน่าเสีย และไม่มีการปนเปื้อน
หลังจากนั้น จะนำเอาน้ำกาวไหมมาวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนว่ามีพอกับความต้องการหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์หรือไม่ พร้อมกับต้องหาสารปรอท เนื่องจากในกาวไหมของประเทศจีน และ เกาหลีนั้น มีการปนเปื้อนของสารปรอทอยู่มากซึ่งเป็นอันตรายและไม่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์หรือทำเป็นเครื่องสำอางได้ จึงต้องมีการตรวจสอบหาสารปรอทอยู่เสมอ พบว่า ในน้ำกาวไหมของประเทศไทยค่อนข้างบริสุทธิ์ ทั้งนี้ถ้ามีการนำเอาน้ำกาวไหมไปใช้โดยไม่ผ่านการกระบวนการ นึ่งฆ่าเชื้อ ในอุณหภูมิ121 องศา เวลา 30 นาที อาจจะทำให้เกิดอาการแผลติดเชื้อรุนแรงเนื่องจากการปนเปื้อนของน้ำกาวไหม นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเครื่องสำอางบางชนิดที่นำเอาโปรตีนไหมไปเป็นส่วนผสม
ขณะนี้มีประเทศเยอรมัน สนใจนำผลงานไปผลิตต่อยอดแล้ว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ผลิตไหมของไทยสามารถสร้างตลาดไหมได้เพิ่มขึ้น นอกจากจะขายผ้าไหม หนอนไหม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากรังไหมแล้ว ยังสามารถขายน้ำกาวไหมได้อีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา: http://www.naewna.com
- 880 views